4 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับ ภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบ

0

แม้จะเป็นอาการทางผิวหนังที่พบได้ไม่บ่อยนัก แต่หากเกิดภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบที่ผิวหนังขึ้น เชื่อว่าไม่ว่าใครก็คงรู้สึกแย่ เพราะมีรอยโรคที่ผิวหนังเห็นได้ชัดเจน หรืออาจถึงขั้นเป็นตุ่มหนอง แตกเป็นแผลได้ และนี่คือ 4 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบ เพื่อให้คุณรู้ทันโรคและรีบรักษาก่อนอาการรุนแรง

4 ข้อน่ารู้เกี่ยวกับภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบ

1. รู้จักภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบ

โรคเส้นเลือดฝอยอักเสบเกิดจากการอักเสบของเส้นเลือดฝอย การอักเสบที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า ภาวะเส้นเลือดอักเสบ และมักเกิดบริเวณหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณผิวหนัง, ลำไส้ และไต โดยภาวะอักเสบบริเวณหลอดเลือดทำให้มีเลือดออกในบริเวณผิวหนัง หรือเยื่อบุ ทำให้เกิดผื่นนูนสีแดงคล้ำ หรือสีม่วง กรณีเกิดบริเวณ ลำไส้ และไต อาจมีเลือดออกที่บริเวณลำไส้หรือไต ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดอาการถ่ายเป็นเลือด หรือปัสสาวะเป็นเลือดได้

2. สาเหตุของภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบ

ภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบ ประมาณครึ่งหนึ่งเกิดจากความผิดปรกติของผิวหนังเอง ไม่สามารถหาสาเหตุได้ ในส่วนที่มีสาเหตุ พบว่า ผื่นรอยโรคอาจเกิดจากการกระตุ้นจากการติดเชื้อแบคทีเรียได้หลายชนิด หรือเกิดจากการติดเชื้อไวรัส เช่น ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เป็นต้น นอกจากนั้นสามารถเกิดร่วมกับโรคแพ้ภูมิตัวเอง รวมถึงการกระตุ้นจากยา หรือ อาหารเสริมบางชนิด ก็มีรายงานทำให้เกิดภาวะนี้ได้ เส้นเลือดฝอยอักเสบเป็นภาวะที่สามารถพบได้ทุกช่วงอายุ และทุกเพศ อย่างไรก็ตาม เส้นเลือดฝอยอักเสบ สามารถพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยจะพบในวัยผู้ใหญ่มากกว่า 90%

3. อาการของภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบ

ลักษณะรอยโรคเป็นผื่นที่มีรอยแดงเป็นปื้นที่กดไม่จาง หรือเป็นตุ่มแดง มีลักษณะคล้ายลมพิษ ในบางรายถ้ามีอาการรุนแรง อาจพบเป็นลักษณะเป็นตุ่มหนอง แตกเป็นแผลได้ ความที่เป็นการอักเสบของชั้นเส้นเลือดใต้ผิวหนัง ลักษณะของผื่นจึงขึ้นกับขนาดของเส้นเลือด เช่น การอักเสบของเส้นเลือดขนาดเล็กและตื้น ก็จะเห็นเป็นจุดแดง ๆ กดไม่จาง ในขณะที่ถ้าเป็นการอักเสบของหลอดเลือดขนาดที่เริ่มใหญ่ขึ้น หรืออยู่ลึก ก็อาจจะคลำได้ก้อน และกดเจ็บบริเวณใต้ผิวหนัง โดยผื่นมักจะพบบ่อยที่บริเวณขาทั้งสองข้าง ประมาณ 5-25% จะพบมีอาการทางกายร่วมด้วย เช่น ไข้ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ น้ำหนักลด คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น

4. การรักษาภาวะเส้นเลือดฝอยอักเสบ 

การรักษาจะเน้นที่การรักษาปัจจัยที่กระตุ้นการเกิดโรคหรือรักษาโรคร่วม การรักษาอาการอักเสบที่ผิวหนัง เป็นการให้ยาแก้แพ้ ยากดภูมิชนิดคอร์ติโคสเตียรอยด์ ยาแก้ปวดบางชนิด เช่น colchicine หรือ indomethacin ซึ่งจะสามารถลดการอักเสบของผื่นได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง พบว่า ผื่นและอาการของโรคสามารถหายได้ในระยะเวลาไม่กี่อาทิตย์ถึงเป็นเดือน แต่ในบางรายเกือบประมาณ 10% ที่มีอาการรุนแรงหรือมีโรคพบร่วมเยอะ จะพบมีอาการของโรคเรื้อรังระยะเวลานานเป็นปีได้

ดังนั้น หากพบว่ามีอาการและรอยโรคที่มีลักษณะคล้ายภาวะดังกล่าว ควรรีบมาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางเพื่อตรวจวินิจฉัย รวมถึงหาสาเหตุของโรคและให้การรักษาที่เหมาะสม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *