ใส่รองเท้าส้นสูง-หัวแหลมประจำ เสี่ยง “ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง”

0

เพราะความสวยความงามเป็นเรื่องสำคัญสำหรับผู้หญิงส่วนใหญ่ แม้อาจนำมาซึ่งความลำบากในการใช้ชีวิต แต่หากแลกมาด้วยความสวยดูดี เชื่อว่าหลายคนยอม อย่างไรก็ตาม คุณอาจต้องคิดใหม่ หากความงามนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว และหนึ่งในนั้น คือ ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง (Bunion, Hallux Valgus) คือ ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงชิดเข้าหานิ้วชี้ เกิดจากกระดูกปูดออกมาจากบริเวณข้อต่อของโคนนิ้วหัวแม่เท้า เนื่องจากนิ้วหัวแม่เท้าถูกเบียดให้เอนไปชิดกับนิ้วชี้ทำให้ข้อต่อบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้ายื่นออกมา โดยบริเวณที่มีอาการอาจมีลักษณะบวมแดงและทำให้รู้สึกเจ็บปวดทางด้านข้างหัวแม่เท้า ใส่รองเท้าลำบาก ผู้ป่วยบางคนอาจพบว่าหนังบริเวณโคนนิ้วที่ยื่นออกมาอาจเป็นสีแดงระเรื่อ ทำให้เข้าใจผิดคิดว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากผิวหนัง ทั้งที่จริงแล้วมีสาเหตุจากกระดูก

สาเหตุของภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเกิดจากโครงสร้างเท้าที่ผิดปกติซึ่งมักเป็นพันธุกรรม เช่น เท้าแบน, กระดูกนิ้วหัวแม่เท้ามีการเอียงออกเอง, ข้อต่อบริเวณนิ้วหัวแม่เท้ายืดหยุ่นมากกว่าปกติ, การบาดเจ็บบริเวณนิ้วหัวแม่เท้าทำให้เอ็นด้านในขาด ส่วนการสวมรองเท้าส้นสูง, รองเท้าที่มีหัวรองเท้าแคบ หรือรองเท้าที่คับแน่นจนเกินไป ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง แต่เป็นปัจจัยที่ทำให้อาการแย่ลง ทั้งนี้ ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง มักจะเกิดขึ้นในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้หญิงที่ใส่รองเท้าส้นสูง และพบมากเมื่ออายุมากขึ้น ส่วนมากจะพบที่เท้าทั้ง 2 ข้างมากกว่าพบที่เท้าข้างเดียว

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงนี้จะค่อย ๆ เกิดขึ้น โดยในระยะแรกที่นิ้วหัวแม่เท้าเริ่มเอียงอาจจะไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติใด ๆ แต่เมื่อนิ้วหัวแม่เท้าเริ่มเอียงมากขึ้นหรือเมื่อสวมรองเท้าที่มีหัวรองเท้าแคบบีบรัดอาจเริ่มมีอาการแสดงที่สังเกตได้ เช่น โคนนิ้วหัวแม่เท้าด้านนอกปูดเป็นปุ่ม, โคนนิ้วหัวแม่เท้าบวม แดง หรือปวด, รู้สึกปวดเท้าเป็นพัก ๆ หรือปวดไม่ยอมหาย, หนังบริเวณโคนนิ้วหัวแม่เท้าหนาขึ้น, ขยับนิ้วหัวแม่เท้าได้เล็กน้อย ทำให้เดินได้ลำบาก

ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงไม่ได้ทำให้เกิดปัญหาตามมาเสมอไป แต่หากไม่ทำการรักษาก็ไม่อาจหายเองได้และอาจก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขึ้น เช่น ถุงน้ำป้องกันการเสียดสีอักเสบ (bursitis) คือ การอักเสบของถุงน้ำที่เป็นตัวรองรับการเสียดสีบริเวณกระดูก เอ็น และกล้ามเนื้อใกล้ข้อต่อ ทำให้เกิดอาการปวด, นิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ โดยมีสาเหตุจากข้อต่อตรงกลางนิ้วโค้งงอผิดปกติ ทำให้ปวดและมีแรงกด, อาการปวดและการอักเสบที่ฝ่าเท้า, ตาปลา ขึ้นบริเวณฝ่าเท้า ใต้กระดูกนิ้วเท้า

การรักษาเบื้องต้น ทำได้โดยการเลือกใส่รองเท้าที่เหมาะสม ใส่รองเท้าขนาดพอดี ไม่คับ หัวรองเท้ากว้าง เมื่อสวมใส่แล้วสามารถขยับนิ้วเท้าได้ไม่บีบรัดนิ้วเท้า พื้นรองเท้านุ่ม, ควรหลีกเลี่ยงรองเท้าที่มีหัวส่วนปลายที่แหลมและส้นรองเท้าสูงมากกว่า 2 นิ้ว, ใช้แผ่นพยุงเท้าช่วยประคองบริเวณที่มีอาการ รับประทานยาระงับปวด, ใช้น้ำแข็งประคบบรรเทาอาการปวดและอักเสบ ส่วนการรักษาด้วยการผ่าตัดขึ้นกับความรุนแรงของโรค มีทั้งการผ่าตัดแต่งกระดูก (osteotomy) การผ่าตัดเชื่อมกระดูกเท้า (Arthrodesis) มักแนะนำในผู้ที่มีนิ้วหัวแม่เท้าผิดรูปอย่างรุนแรง

ทั้งนี้ หลังการผ่าตัดเพื่อรักษาภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงนั้น จะส่งผลให้การเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่เท้าจะทำได้น้อยลง และไม่สามารถใส่รองเท้าส้นสูงได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *