รู้จักและเข้าใจโรคน้ำกัดเท้า เพื่อลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง

0

ฤดูฝนถือเป็นช่วงที่ต้องใส่ใจดูแลสุขภาพมากเป็นพิเศษ เนื่องจากสภาพอากาศส่งผลให้เกิดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยได้ง่าย โดย “โรคน้ำกัดเท้า” ถือเป็นหนึ่งในโรคที่ไม่ควรละเลย และควรมีความรู้ความเข้าใจในการดูแลตนเองอย่างถูกวิธี เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่าง ๆ ที่จะตามมาได้

โรคน้ำกัดเท้า (Athlete’s Foot) หรือฮ่องกงฟุต เกิดจากการระคายเคือง มีลักษณะโรคหลายชนิด ทั้งการอักเสบ ระคายเคืองและติดเชื้อ ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความถี่ที่ผิวหนังสัมผัสน้ำ ซึ่งผิวหนังที่แช่น้ำนาน ๆ เซลล์ผิวหนังจะอุ้มน้ำ ทำให้บวมและเปื่อยฉีกขาดได้ โดยเฉพาะบริเวณที่มีการเสียดสี เช่น ง่ามนิ้วเท้า พื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค คือ บริเวณที่มีน้ำขัง

อาการของโรคน้ำกัดเท้าแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ช่วง 1-3 วันแรก ผิวหนังเปื่อยเมื่อแช่น้ำ ผิวหนังแดงคัน แสบ ผิวหนังระคายเคือง และมีการลอกเล็กน้อย ในระยะนี้ให้สังเกตตนเอง และดูแลรักษาความสะอาดแนะนำปรึกษาเภสัชกรเพื่อหายามาทา

ระยะที่ 2 ช่วง 3-10 วัน อาจมีการติดเชื้อแบคทีเรีย ติดเชื้อรา ผิวหนังจะเปื่อยมีรอยฉีกขาด มีอาการแดง บวม ปวดเจ็บ อาจมีหนองหรือน้ำเหลืองซึม เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่มากกว่าเชื้อรา ควรรีบไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน

ระยะที่ 3 ช่วง 10-20 วัน ถ้าแช่น้ำต่อเนื่อง ผิวหนังแดง คันมีขุยขาว เปียก เหม็น ผิวหนังจะเปื่อยเป็นสีขาว เป็นขุยหรือลอกบางเป็นสีแดง ผื่นเปียกเหม็น เป็นการติดเชื้อรา เป็นระยะที่อันตรายมาก ควรรีบพบแพทย์ผิวหนังทันที

แนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคน้ำกัดเท้า

1. หลีกเลี่ยงการแช่เท้าในน้ำมาก ๆ ถ้าเลี่ยงไม่ได้ต้องสัมผัสน้ำให้ใส่รองเท้าบูท เมื่อขึ้นจากน้ำให้รีบล้างเท้าให้สะอาดทุกซอกทุกมุมด้วยน้ำสะอาดและสบู่ ถ้าไม่มีจริง ๆ ให้ใช้ทิชชู่เปียกหรือแอลกอฮอล์ในการทำความสะอาด เช็ดเท้าให้แห้งอยู่เสมอ และทาครีมบำรุงผิว โดยหลีกเลี่ยงบริเวณซอกนิ้วเพราะอาจทำให้เกิดการหมักหมมติดเชื้อราได้ง่าย

2. ถ้ามีผื่นแดงเล็กน้อย คัน ควรทายากลุ่มสเตียรอยด์

3. ถ้ามีผื่นและมีรอยเปื่อยฉีกขาดของผิว มีอาการบวมแดง ปวดเจ็บ หรือมีหนองเป็นอาการติดเชื้อแบคทีเรียที่รุนแรงขึ้น ควรพบแพทย์

4. ถ้าเท้าแช่น้ำนานหลายสัปดาห์ต่อเนื่องหรือนิ้วเท้าเกยหรือชิดกันมาก ทำให้อาจติดเชื้อราที่ง่ามนิ้วเท้าเกิดเป็นผื่นขุยเปียกขาว ควรใช้ยาทารักษาเชื้อรา

5. ถ้าเท้ามีบาดแผลควรทำแผลและทายาฆ่าเชื้อโรค เช่น เบตาดีน

6. การรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียหรือเชื้อราที่ผิวหนัง ต้องทายาและรับประทานยาให้ครบตามระยะเวลาที่กำหนด หากไม่ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดอาจทำให้ไม่หายขาด และเชื้ออาจพัฒนาไปเป็นการดื้อยา

7. ระวังการตัดเล็บเท้าเพราะอาจเกิดบาดแผลเป็นทางเข้าของเชื้อโรค

8. เมื่อหายดีแล้วให้รักษาความสะอาดของเท้า และให้เท้าแห้งอยู่เสมอเพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำอีก

9. ควรสังเกตดูเท้าของตนเองทุกวัน ถ้าพบความผิดปกติเช่นผื่นคัน เป็นขุย ตุ่มพุพอง หรือมีแผลอักเสบ ควรปรึกษาแพทย์

ทั้งนี้ หากอาศัยอยู่ใกล้แหล่งอุตสาหกรรมให้ระวังน้ำปนเปื้อนสารเคมี ระวังไฟฟ้าดูด ควรรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่สะอาด สวมเสื้อผ้าที่มิดชิด ระวังแมลงกัด และระวังโรคระบาดที่มากับน้ำท่วม เช่น โรคอุจจาระร่วง โรคไข้เลือดออก

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *