หลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น ลดความรุนแรงของ “โรคหืด” ได้

0

โรคหืด เป็นโรคที่พบมากขึ้นในประเทศไทย เกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลมที่มีความไวต่อสิ่งที่มากระตุ้นมากผิดปกติ บางครั้งพบผู้ป่วยมีอาการตั้งแต่เด็ก และบางครั้งมีอาการเมื่ออายุมาก ปัจจุบันโรคหืดยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ดังนั้น สิ่งที่ผู้ป่วยควรทำคือ การรักษาและป้องกันความรุนแรงของโรค

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรคหืดมีหลายปัจจัย เช่น การถ่ายทอดทางพันธุกรรม และสิ่งแวดล้อม อาทิ มลพิษทางอากาศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ร้อนจัด เย็นจัด ฝนตก อากาศชื้นหรือชื้น น้ำหอม น้ำยาหรือสารเคมี สัตว์เลี้ยง ไรฝุ่น ฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นต้น ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นสิ่งกระตุ้นปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารก่อภูมิแพ้ของโรคหอบหืด ดังนั้น ผู้ป่วยควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อลดความรุนแรงของโรค เพราะหากปล่อยไว้อาจเกิดการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม นำไปสู่การเกิดการหนาตัวของหลอดลม มีผลทำให้มีการอุดกั้นของหลอดลมอย่างถาวรอันตรายถึงชีวิต

ผู้ป่วยโรคหอบหืดมักจะพบอาการ คือ 1. ไอเรื้อรัง ส่วนมากไอมีเสมหะ 2. หายใจมีเสียงวิ๊ด มักมีอาการมากในช่วงอากาศเย็นตอนกลางคืน 3. แน่นหน้าอก หายใจติดขัด 4. มีความแปรปรวนของโรค คือ ในช่วงสงบผู้ป่วยจะมีอาการปกติ และในช่วงที่ได้รับการกระตุ้น ผู้ป่วยจะมีอาการเด่นขึ้น เช่น หลังติดเชื้อไวรัส อากาศเปลี่ยน ได้รับมลพิษทางอากาศ 5. อาจมีอาการร่วมกับโรคภูมิแพ้ได้ เช่น มีน้ำมูก คัดจมูก 6. เมื่อใช้ยารักษาโรคหืด เช่น ยาขยายหลอดลม อาการต่าง ๆ จะดีขึ้น

ปัจจุบันโรคหืดยังไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมอาการได้ หากได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและเคร่งครัด  ทั้งนี้แพทย์จะทำการวินิจฉัยผู้ป่วยถึงความรุนแรงของอาการผู้ป่วย เพื่อนำไปสู่แนวทางการรักษาและการป้องกันความรุนแรงของโรค ดังนี้

1. การรักษาด้วยการใช้ยาพ่นควบคุม ปัจจุบันแนะนำการใช้ยาพ่นควบคุมด้วยยา 2 ชนิด ในกระบอกเดียวเป็นหลัก ได้แก่ ยากลุ่มฉีดพ่นควบคุมชนิด steroid ร่วมกับยาขยายหลอดลมชนิดยา (inhaled corticosteroid/ long acting beta2 agonist) โดยใช้ประจำทุกวัน เพื่อลดการอักเสบของหลอดลมและช่วยขยายหลอดลม ซึ่งมีประโยชน์กว่าการกินเฉพาะยาขยายหลอดลม 

2. การปรับการใช้ยาพ่นเฉพาะเวลามีอาการ ไม่แนะนำให้ใช้ยาพ่นฤทธิ์สั้น short acting beta2 agonist แต่เพียงอย่างเดียว แนะนำให้ใช้ยาผสม inhaled corticosteroid/ long acting beta2 agonist (formeterol) ที่มีขนาด inhaled corticosteroid ขนาดต่ำแทน และผู้ป่วยที่เหมาะสมในการใช้ยาพ่นเฉพาะเวลาที่มีอาการ ต้องอยู่ในระยะสงบ คือ อาการน้อยกว่า 4 ครั้งต่ออาทิตย์ จึงจะเลือกใช้ยาเฉพาะมีอาการได้

3. การออกกำลังกายเป็นประจำ เช่น ว่ายน้ำ วิ่ง เดินไว เพื่อลดการอักเสบของหลอดลม ทำให้การควบคุมโรคหอบหืดดีขึ้น ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายเมื่อมีมลพิษทางอากาศสูง รวมถึงการออกกำลังกายใกล้สนามหญ้าที่เพิ่งตัดหญ้า

4. การหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น เช่น มลพิษทางอากาศ และฝุ่น PM 2.5 รวมถึงสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ เช่น ไรฝุ่น, แมลงสาบ, ขนสัตว์, เกสรดอกหญ้า เป็นสิ่งสำคัญที่จะลดการกำเริบของโรค และควรฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่เป็นประจำทุกปี

ดังนั้น ผู้ป่วยควรดูแลตนเองและควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด และควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการกำเริบ เพื่อลดการเกิดความรุนแรงของโรค ลดโอกาสการเสียชีวิต เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *