“โรคเรื้อน” เป็นโรคติดต่อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อ Mycobacterium leprae (M.leprae) เชื้อนี้ชอบอาศัยอยู่ในเส้นประสาทและผิวหนัง เมื่อร่างกายพยายามกำจัดเชื้อเส้นประสาทจึงถูกทำลายและทำให้เกิดอาการทางผิวหนังตามไปด้วย ที่น่ากลัวคือหากไม่รีบรักษาจะทำให้เกิดความพิการของมือ เท้า และตา
โรคเรื้อนสามารถติดต่อได้โดยทางเดินหายใจ แต่ติดต่อกันได้ยาก ผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อโรคเรื้อนคือ ผู้ที่สัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่ยังไม่ได้รับการรักษา (แต่หากผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างถูกต้องภายใน 7 วัน จะไม่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้อีก) ซึ่งผู้ที่ได้รับเชื้อและเกิดโรคเรื้อนจะเป็นคนที่มีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรคเรื้อนผิดปกติเท่านั้น ข้อมูลทางสถิติพบว่าผู้รับเชื้อโรคเรื้อน 100 คนจะมีโอกาสเป็นโรคเรื้อนได้เพียง 3 คน
อาการเริ่มแรกของโรคเรื้อนจะเป็นรอยโรคทางผิวหนังสีจางหรือเข้มข้นกว่าผิวหนังปกติ อาจพบขนร่วง เหงื่อไม่ออก ที่สำคัญคือ ในรอยโรคผิวหนังเหล่านี้จะมีอาการชา หยิกไม่เจ็บ ไม่คัน สำหรับโรคเรื้อนชนิดที่เป็นมาก จะมีผื่นนูนแดงหนา หรือมีตุ่มแดงไม่คัน โดยเฉพาะที่ใบหูจะนูนหนา อาจมีขนคิ้วร่วง ไม่ว่าผู้ป่วยในระยะเริ่มต้น หรือระยะที่เป็นมากแล้วก็ตาม ผู้ป่วยเหล่านี้จะไม่มีอาการคัน หรือเจ็บปวดเลย ซึ่งเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยคิดว่าไม่ใช่โรคร้ายแรงจึงไม่รีบมารับการรักษา
การดำเนินของโรคเรื้อนจะเป็นไปอย่างช้าๆ ใช้เวลาเป็นปี หากไม่รักษาตั้งแต่เริ่มเป็น เมื่อเส้นประสาทถูกทำลายจะทำให้เกิดความพิการที่ตา มือ และเท้า อย่างไรก็ตาม โรคเรื้อนเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายได้ ส่วนความพิการที่เกิดขึ้นแล้วหรือความเสี่ยงต่อความพิการในอนาคตนั้น ถ้าได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก รวมทั้งปฏิบัติตามคำแนะนําของแพทย์อย่างเคร่งครัดก็สามารถหยุดยั้งความพิการไม่ให้เกิดขึ้นหรือไม่ให้เพิ่มขึ้นได้ (แต่ในส่วนของความพิการจากโรคเรื้อนบางอย่าง ถึงแม้จะรักษาโรคเรื้อนหายแล้ว ก็ไม่สามารถแก้ไขได้)
คำแนะนําสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อน
1. ไปรับการรักษาตามที่แพทย์นัด และรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการระยะเริ่มแรกใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 6 เดือน แต่ในกรณีที่เป็นมากหรืออาการระยะติดต่อจะใช้เวลารักษาต่อเนื่อง 2 ปี สิ่งสำคัญคือ ครอบครัวหรือคนดูแลต้องให้กําลังใจผู้ป่วยให้รับการรักษาและกินยาต่อเนื่องตามคำแนะนําของแพทย์ โดยผู้ที่อยู่ร่วมบ้านเดียวกับผู้ป่วยก่อนได้รับการรักษา 6 เดือน เป็นกลุ่มผู้สัมผัสโรคที่จำเป็นต้องตรวจร่างกายปีละครั้งเป็นเวลา 10 ปี
2. รักษาความสะอาดของร่างกาย เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ภายนอกและลดการรังเกียจจากคนรอบข้าง ซึ่งจะส่งผลให้การตีตราลดน้อยลง
3. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสร้างภูมิต้านทานของร่างกาย นอกจากการรับการรักษา และรับประทานยาต่อเนื่องแล้ว การสร้างภูมิต้านทานให้ตนเองมีสุขภาพแข็งแรงย่อมเป็นสิ่งสำคัญ เลือกรับประทานอาหาร ที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายส่งผลให้สุขภาพแข็งแรง
4. ทำจิตใจให้สดชื่นแจ่มใส ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล และปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ
ทั้งนี้ หากพบว่าที่รอยโรคที่ผิวหนัง มีอาการชา หรือเป็นโรคผิวหนังเรื้อรังใช้ยากิน ยาทา 3 เดือนแล้วไม่หายให้สงสัยว่าอาจเป็นโรคเรื้อน ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที