สารพัดวิธี “ดูแลไต” ให้ห่างไกล สารพัด “โรคไต”

0

“โรคไต” เป็นคำกว้าง ๆ ที่บ่งชี้ถึงการมีความผิดปกติที่บริเวณไตข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้ง 2 ข้าง ซึ่งโรคไตเป็นกลุ่มโรคที่เกิดจากระบบการทำงานของไตผิดปกติ ทำให้ไตไม่สามารถขับของเสียหรือรักษาความสมดุลของเกลือและน้ำในร่างกายได้ ที่น่ากลัวคือ ปัจจุบัน คนไทยป่วยด้วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน

 

ไตต

 

โรคไตมีสาเหตุหลายอย่าง ได้แก่ โรคซึ่งเกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เช่น โรคถุงน้ำในไต (polycystic kidney disease) โรคที่ทำให้เกิดการอักเสบของไต (glomerulonephritis) โรคที่เกิดจากการอุดตันของทางเดินปัสสาวะเช่นจากนิ่ว และที่สำคัญคือโรคที่เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด หวานจัดเป็นประจำ ทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมมากเกินไป ความเครียดสะสม พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ออกกำลังกาย ทำให้เกิดโรคแทรกซ้อน โรคความดันโลหิตสูง และเกิดโรคเบาหวานตามมา ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้ายที่พบบ่อยที่สุด

 

สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเสี่ยงเป็นโรคไต มีดังนี้

  1. อาการทางระบบปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด, ปัสสาวะแสบขัดหรือปัสสาวะลำบาก, ปัสสาวะมีฟอง, ปัสสาวะมีกรวด/ ทรายออกมา, ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ
  2. อาการของภาวะโรคไตเรื้อรัง เช่น มีอาการบวมในร่างกาย, คันตามตัว/ คลื่นไส้อาเจียนเบื่ออาหาร/ ภาวะโลหิตจาง
  3. อาการอื่น ๆ เช่น ปวดเอว, ความดันโลหิตสูงมากผิดปกติ

 

วิธีการดูแล “ไต” และป้องกันการเกิด “โรคไต”

  1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นผักผลไม้สดเพื่อเสริมสร้างวิตามินและธาตุต่าง ๆ โดยลดการรับประทานเนื้อแดง อาหารที่มีไขมันสูง อาหารที่มีรสหวาน มัน เค็ม เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ซึ่งเป็นโรคประจำตัวที่สามารถทำให้เกิดโรคไตเสื่อมเรื้อรัง
  2. ลดการรับประทานอาหารสำเร็จรูป เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ข้าวกล่องในร้านสะดวกซื้อ อาหารกระป๋อง เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณมากโดยไม่รู้ตัว
  3. ควรดื่มน้ำให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อให้ไตสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น
  4. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  5. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อส่งผลดีต่อความดันโลหิตและความดันภายในไต
  6. ควบคุมน้ำหนักให้ได้มาตรฐาน เพื่อลดความเสี่ยงต่อโรคอ้วน
  7. งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เนื่องจากมีสารพิษต่อไตโดยตรง
  8. หลีกเลี่ยงการกินยาแก้ปวดและแก้อักเสบเกินความจำเป็น เนื่องจากอาจจะส่งผลเสียต่อการทำงานของไต ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตได้ลดลง
  9. รับการตรวจสุขภาพประจำปี

 

อย่างไรก็ตาม หากพบอาการผิดปกติควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป ยิ่งตรวจรักษาแต่เนิ่น ๆ ยิ่งมีโอกาสหายเป็นปกติได้เร็ววัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *