ผิวเนียนสวย ไร้ร่องรอยไม่พึงประสงค์ ล้วนเป็นที่ปรารถนาของคนส่วนใหญ่ โดยเฉพาะคุณผู้หญิง หนึ่งในพื้นที่สำคัญที่สาวๆ หลายคนให้ความสำคัญคงหนีไม่พ้นเรียวขา แต่ปัญหาที่มักเกิดขึ้นคือ มีเส้นเลือดปูดโปนหรือมีเส้นเลือดฝอยตามขาทำให้เกิดความไม่สวยงาม หรือที่เรียกว่า เส้นเลือดขอด
เส้นเลือดขอด เป็นอาการหนึ่งในภาวะหลอดเลือดดำชั้นตื้นผิดปกติ หรือที่เรียกว่า Chronic Venous Disorder (CVD) โดยภาวะนี้พบได้ไม่น้อยในปัจจุบัน CVD เกิดจากความดันในหลอดเลือดดำที่สูงมากขึ้น ปัจจัยที่ส่งเสริมทำให้เกิดเส้นเลือดขอด ได้แก่ อายุที่มากขึ้น การตั้งครรภ์ ภาวะอ้วน พันธุกรรม เพศ (พบในเพศหญิงมากกว่าชาย) รวมถึงการทำงานที่ต้องยืนหรือนั่งเป็นเวลานานๆ เช่น ครู พยาบาล พนักงานต้อนรับ ส่งผลทำให้เกิดความผิดปกติที่บริเวณลิ้นของหลอดเลือดดำที่ขา ทำให้เลือดไหลกลับสู่หัวใจได้ไม่ดี จากแรงโน้มถ่วงจึงทำให้เกิดความดันในหลอดเลือดมากขึ้น ทำให้เกิดรอยโรคใน CVD ตามมา เช่น เส้นเลือดฝอย เส้นเลือดขอด ผิวหนังอักเสบ ภาวะหนังแข็ง จนถึงทำให้เกิดแผลลึกตามมา หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม สำหรับแนวทางการรักษาเส้นเลือดขอด แบ่งเป็น 3 วิธีหลักๆ ตามระดับความรุนแรงของโรค
1. การใส่ถุงน่อง เป็นวิธีการรักษาอาการเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้น โดยการใส่ถุงน่องที่ออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับผู้ที่เป็นเส้นเลือดขอด ถุงน่องเหล่านี้จะมีความดันที่บริเวณข้อเท้าที่พอเหมาะในการเพิ่มการไหลเวียนในหลอดเลือดดำที่ขา ทำให้เลือดสามารถไหลเวียนกลับสู่หัวใจได้ดีขึ้น ทำให้สามารถลดความดันในหลอดเลือดดำสูงที่ขาได้ ลดการอักเสบ บวม การรักษาด้วยวิธีนี้จะได้ผลดีต่อเมื่อผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงและถึงน่องมีขนาดเหมาะสมกับสรีระและรอยโรคของผู้ป่วย
2. การฉีดยา เป็นวิธีการรักษาอาการเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้นถึงระยะกลาง โดยการฉีดยาเพื่อให้เส้นเลือดขอดเกิดการฝ่อและค่อยๆ ยุบลง ซึ่งขนาดของเส้นเลือดขอดต้องไม่เกิน 3 มิลลิเมตร ส่วนยาที่ใช้ฉีดจะมีหลายชนิด แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกชนิดที่เหมาะสม อย่างไรก็ตาม อาจเกิดผลข้างเคียงจากการฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด อาทิ บริเวณที่ฉีดอาจมีอาการปวด บวมแดง, มีรอยจ้ำเขียว (ซึ่งจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์), อาจเกิดรอยคล้ำตามแนวเส้นเลือดที่ฉีด
3. การผ่าตัด เป็นวิธีการรักษาอาการเส้นเลือดขอดในระยะเริ่มต้นถึงระยะรุนแรง โดยวิธีการผ่าตัด มี 2 แบบ คือ 1) ผ่าตัด โดยดึงเส้นเลือดขอดทิ้ง (Venous stripping) 2) การเจาะรูเข้าไปที่เส้นเลือด (Endovascular) ซึ่งจะทำให้แผลมีขนาดเล็ก และผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่า ในส่วนของการเจาะรูจะแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ ใช้คลื่นวิทยุหรือเลเซอร์ ทำให้หลอดเลือดยุบตัวลง อีกวิธีคือ ใช้กาวหยอดเข้าไปในหลอดเลือด แล้วกดให้มันแฟบชนกัน ทั้งนี้ อาจเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอด อาทิ มีจ้ำเลือดใต้ผิวหนัง (ซึ่งจะหายไปเองภายใน 1-2 สัปดาห์), เกิดแผลเป็นให้เห็นได้หลังการผ่าตัด
เมื่อเกิดเส้นเลือดขอดที่เรียวขา นอกจากทำให้เสียความมั่นใจแล้ว อาจทำให้มีอาการเมื่อยล้า หนักขา ที่น่ากลัวคือ หากแผลเส้นเลือดขอดแตกจนมีน้ำเหลืองไหลออกมาก็จะกลายเป็นแผลเรื้อรังและเสี่ยงต่อการเกิดภาวะติดเชื้อได้