พบ “ยาปลุกเซ็กซ์-ลดอ้วน-ยานอนหลับ” ในกาแฟและอาหารเสริม

0

ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพยังคงได้รับความนิยมสูงในปัจจุบัน ไม่แปลกที่มีสารพัดผลิตภัณฑ์สารพัดยี่ห้อวางจำหน่ายทั้งตามท้องตลาดและสั่งผ่านทางเน็ต ปัญหาคือผู้บริโภคบางคนไม่ได้ศึกษาข้อมูลก่อนรับประทาน จึงไม่ทราบว่ามี “ยาปลุกเซ็กซ์-ลดอ้วน-ยานอนหลับ” ผสมอยู่ในกาแฟ-อาหารเสริมบางยี่ห้อด้วย!!

นพ.สุขุม กาญจนพิมาย อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลว่า ปี 2556 – 2559 กรมวิทย์ฯ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และหน่วยงานต่างๆ เฝ้าระวังการใช้ยาแผนปัจจุบันในอาหาร จำนวน 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ, กลุ่มยาลดความอ้วน, กลุ่มยาลดความอยากอาหาร, กลุ่มยาระบาย, กลุ่มยาสเตียรอยด์ และกลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์

find-sex-alarm-weight-loss-sleeping-pills-in-coffee-and-supplements

ในตัวอย่างกาแฟสำเร็จรูปชนิดผง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เครื่องดื่ม และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งสิ้น 1,603 ตัวอย่าง ผลการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ยังคงตรวจพบการปนปลอมของยาแผนปัจจุบันเหล่านี้ ผู้บริโภคจึงมีความเสี่ยงที่จะได้รับอันตรายจากผลข้างเคียงของยาที่พบทั้งชนิดเดียวและพบร่วมกัน 2 ชนิด โดยผลการตรวจสอบพบว่า

  1. กาแฟสำเร็จรูปชนิดผง จำนวน 462 ตัวอย่าง เจอกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 26.2 กลุ่มยาลดความอ้วน เจอร้อยละ 13.7 กลุ่มยานอนหลับเบนโซไดอะซีปีนส์ พบร้อยละ 0.5
  2. ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร จำนวน 1,034 ตัวอย่าง พบกลุ่มยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศ ร้อยละ 42.9 กลุ่มยาลดความอ้วน ออลิสแตท ร้อยละ 11.8 ไซบูทรามีน ร้อยละ 19.2 กลุ่มยาลดความอยากอาหาร ร้อยละ 0.4 กลุ่มยาระบาย ร้อยละ 0.4 กลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 1.9 พบยาแผนปัจจุบัน 2 กลุ่ม จำนวน 3 ตัวอย่าง ได้แก่ ไซบูทรามีน ร่วมกับทาดาลาฟิล 1 ตัวอย่าง และไซบูทรามีน ร่วมกับฟีนอล์ฟทาลีน 2 ตัวอย่าง และยากลุ่มเดียวกัน 2 ชนิด ได้แก่ ไซบูทรามีน ร่วมกับออลิสแตท 3 ตัวอย่าง
  3. เครื่องดื่ม เช่น โกโก้ผง เครื่องดื่มผงผสมคอลลาเจน เครื่องดื่มคลอโรฟิลล์ เครื่องดื่มสมุนไพร เป็นต้น จำนวน 66 ตัวอย่าง พบกลุ่มยาสเตียรอยด์ ร้อยละ 14.6
  4. อาหารอื่นๆ ได้แก่ ชาสมุนไพร ข้าวกล้องงอก และวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น สารให้กลิ่นรส น้ำตาลมอลโตส สารโคคิวเท็น จำนวน 41 ตัวอย่าง พบกลุ่มยาลดความอ้วน ร้อยละ 11.1

ยารักษาโรคหย่อนสมรรถภาพทางเพศอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบหลอดเลือดและหัวใจ เช่น มีหัวใจวาย เส้นโลหิตในสมองแตก หัวใจเต้นผิดปกติ เลือดออกในสมองหรือปอด ความดันโลหิตสูง และเสียชีวิตเฉียบพลัน ไซบูทรามีนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจวายและเส้นโลหิตในสมองแตก ส่วนออลิสแตทอาจส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียง เช่น ระบบขับถ่ายมีปัญหา ไม่สามารถกลั้นอุจจาระได้ เป็นต้น

ฉะนั้นก่อนซื้อกาแฟผงหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ควรศึกษาข้อมูลให้ถี่ถ้วน เลือกผลิตภัณฑ์จากแหล่งที่เชื่อถือได้ มีคำรับรองจาก อย. หากมีอาการผิดปกติให้หยุดรับประทานทันที และรีบไปพบแพทย์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *