มหาวิทยาลัยมหิดลเผยวิถีแห่ง “มะเขือเทศและไลโคปีน”

0

ม้าอะไรเอ่ยสีแด๊งแดง? / ม้าทาสี

ม่ายช่าย… / ม้าโดนรถชน

ม่ายถูก… / ฮ่วย!! แล้วม้าอะไรสีแดง

ก็ม้าเขือเทศไงล่า…/ เงอะ…มุขห้าบาทสิบบาทก็ยังจะเล่นเนอะ

กับคำถามไร้สาระที่โดนถามทีไรก็ต้องปวดหัวทุกที เฮ้อ…จะม้าอะไรก็เอาเถอะ แต่เจ้าม้า เอ้ย!! มะเขือเทศเนี่ย มันไม่ไร้สาระนะจ๊ะ เพราะมะเขือเทศที่เรารับประทานกันอยู่ทุกวันน่ะ เขาไม่ได้มีประโยชน์แค่ใช้เป็นอาหารหรอกนะ เพราะจากงานวิจัยต่างๆ ทำให้ทราบว่ามะเขือเทศมีฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาเพียบเลยละขอบอก มามะ…มาทำความรู้จักกับมะเขือเทศให้มากขึ้นกันเถอะ

มหาวิทยาลัยมหิดลเผยวิถีแห่ง มะเขือเทศและไลโคปีน (1)

มะเขือเทศมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Lycopersicon  esculentum  Mill. อยู่ในวงศ์ SOLANACEAE ลักษณะทางพฤกษศาสตร์คือ เป็นไม้ล้มลุกฤดูเดียว สูงได้ถึง 2 ม. ใบเดี่ยวเรียงสลับ รูปไข่ถึงรูปขอบขนาน ขอบใบเว้าลึกดูคล้ายเป็นใบประกอบแบบขนนก ดอกช่อออกที่ซอกใบ กลีบดอกสีเหลืองเชื่อมติดกันเป็นรูปกรวย ผลสดรูปทรงกลมหรือรูปทรงกระบอก ผิวเรียบหรือเป็นร่องตามยาว เมื่อยังอ่อนอยู่มีสีเขียว และเปลี่ยนเป็นสีแดง ชมพูส้มหรือเหลืองเมื่อสุก เมล็ดรูปไข่สีน้ำตาลอ่อนแบน มีได้ถึงผลละ 250 เมล็ด

สรรพคุณตามตำรายาไทยระบุว่า ใบ ใช้รักษาหน้าเกรียมเนื่องจากถูกแดดเผา ผล ใช้เป็นยาระบาย ช่วยให้เจริญอาหาร แก้กระหายน้ำ แก้ไฟไหม้น้ำร้อนลวก ช่วยย่อยอาหาร และใช้ฟอกเลือด น้ำมะเขือเทศที่คั้นใหม่ๆ สามารถใช้ทำความสะอาดผิว ทำให้ผิวนุ่มเนียน จึงนิยมนำมะเขือเทศมาพอกหน้า และปัจจุบันก็มีการใช้น้ำมะเขือเทศเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางด้วย ในมะเขือเทศมีกรดอินทรีย์ น้ำตาล วิตามิน A, B, C และสารสำคัญในกลุ่มแคโรทีนอยด์อย่างไลโคพีน (lycopene) ที่ทำให้มะเขือเทศมีความโดดเด่นเหนือพืชผักอื่นๆ

มหาวิทยาลัยมหิดลเผยวิถีแห่ง มะเขือเทศและไลโคปีน (2)

การศึกษาฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาระบุว่า มะเขือเทศและสารสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะสารไลโคพีน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ชะลอความแก่ ต้านการอักเสบ ช่วยลดไขมันและน้ำตาลในเลือด และมีฤทธิ์ต้านมะเร็งหลายชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งมะเร็งต่อมลูกหมาก การศึกษาทางคลินิกจำนวนมากพบว่า การบริโภคมะเขือเทศสด ซอสมะเขือเทศ น้ำมะเขือเทศ สารสกัดมะเขือเทศ และสารไลโคพีน สามารถลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้ อีกทั้งยังช่วยลดขนาดและยับยั้งการลุกลามของเซลล์มะเร็งดังกล่าวด้วย

นอกจากนี้มะเขือเทศยังมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง และในขณะนี้ก็ยังไม่มีรายงานความเป็นพิษของการบริโภคมะเขือเทศในรูปแบบของอาหารเลย หลายๆ คนอาจคิดว่าการรับประทานผักสดเป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะทำให้ได้สารสำคัญในพืชผักเยอะๆ แต่ในกรณีของสารไลโคพีน ถือเป็นข้อยกเว้น เพราะการศึกษาเปรียบเทียบปริมาณสารไลโคพีนในผลิตภัณฑ์ที่ทำจากมะเขือเทศ (ที่น้ำหนักเท่ากัน) เช่น ซอสมะเขือเทศ (Tomato ketchup) น้ำมะเขือเทศ ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น (Tomato paste) ซุปมะเขือเทศเข้มข้น มะเขือเทศปรุงสุก มะเขือเทศผง และมะเขือเทศสด

ทำให้สามารถเรียงลำดับปริมาณของไลโคพีนจากน้อยไปมากได้ดังนี้

มะเขือเทศสด < มะเขือเทศปรุงสุก < ซุปมะเขือเทศเข้มข้น < น้ำมะเขือเทศ < ซอสมะเขือเทศ < มะเขือเทศผง < ผลิตภัณฑ์มะเขือเทศเข้มข้น

จะเห็นได้ว่ามะเขือเทศที่ผ่านกระบวนการและความร้อน จะมีปริมาณของสารไลโคพีนมากกว่ามะเขือเทศสด แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคมะเขือเทศสดก็จะทำให้ได้วิตามินและสารอื่นๆ ที่สลายไปในระหว่างกระบวนการผลิตแทน ดังนั้นไม่ว่าจะเลือกรับประทานมะเขือเทศในรูปแบบใด ก็ได้ประโยชน์ทั้งนั้น เมื่อทราบแบบนี้แล้ว จะรับเป็นสปาเก็ตตี้โบโลเนส ซุปมะเขือเทศ หรือพิซซ่าหน้าซอสมะเขือเทศชุ่มๆ ดีคะ ^^

มหาวิทยาลัยมหิดลเผยวิถีแห่ง มะเขือเทศและไลโคปีน (3)

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่

จุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 17 ฉบับที่ 3 และจุลสารข้อมูลสมุนไพรปีที่ 21 ฉบับที่ 4

สำนักงานข้อมูลสมุนไพร : คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *