โรคจิตเภทไม่ใช่โรคน่ากลัว แค่ยอมรับ-เปิดใจ-ไปรักษา

0

ปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเรื่องโรคทางจิตเวชอยู่ ภาพในหัวของหลายๆ คนยามนึกถึงผู้ป่วยโรคจิตเภท คือ คนที่เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย บางครั้งเหม่อลอย บางครั้งก็อาละวาด พูดจาไม่รู้เรื่อง ผมเผ้ารุงรัง เป็นต้น ซึ่งคนเหล่านี้มักถูกคนในสังคมเรียกด้วยความกลัวหรือหวาดผวาว่า “โรคจิต”

“โรคจิตเภท”

เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีความผิดปกติของความคิด ทำให้ผู้ป่วยมีความคิดและการรับรู้ไม่ตรงกับความเป็นจริง อาการสำคัญของโรค คือ มีความคิด การรับรู้ อารมณ์ และพฤติกรรมที่ผิดปกติ มีความคิดไม่ต่อเนื่อง ประสาทหลอน หลงผิด หวาดระแวง ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ แยกตัวจากสังคม ไม่ค่อยดูแลตนเอง ส่งผลเสียต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน โดยโรคนี้พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของประชากร

schizophrenia-2

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า…

ประเทศไทยมีผู้มีปัญหาสุขภาพจิตประมาณ 7 ล้านคน เป็นโรคจิตเวชประมาณ 1.1 ล้านคน โดยโรคจิตเภทเป็นโรคที่พบมากที่สุด จากข้อมูลสำนักบริหารระบบบริการสุขภาพจิต กรมสุขภาพจิต คาดการณ์ว่า มีผู้ป่วยโรคจิตทั่วประเทศ ประมาณ 421,298 คน ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยจิตเภทที่เข้าถึงบริการ ประมาณ 2 ใน 3 หรือประมาณ 288,806 คน

โรคจิตเภทเป็นโรคเรื้อรังที่สามารถรักษาได้ ไม่ใช่โรคที่น่ากลัว สาเหตุมาจากปัจจัย 3 ด้านประกอบกัน

  1. ความโน้มเอียงที่มีอยู่ก่อน เช่น พันธุกรรม พื้นฐานทางอารมณ์
  2. ปัจจัยกระตุ้น เช่น การกระทบกระเทือนของสมอง ความเครียด ฮอร์โมน โรคบางอย่าง หรือ สารเสพติด 3. ปัจจัยที่ทำให้โรคดำเนินต่อไป คือ การไม่ได้รับการดูแลรักษา ส่งเสริมสุขภาวะที่เหมาะสม เนื่องจากไม่ตระหนักรู้ถึงโรคจิตเภท หรือเพราะอคติต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคนี้ หากรับการรักษาที่ไม่ถูกต้องหรือไม่ต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดความทุกข์ทรมานแก่ผู้ป่วยและคนรอบข้างอย่างมาก ผู้ป่วยอาจเกิดความหวาดระแวงสูง กลัวคนอื่นมาทำร้าย นำไปสู่การก่อเหตุรุนแรง สังคมหวาดกลัว ตอกย้ำตราบาปให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น

การดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเภท มีทั้งการรักษาทางกาย ด้วยการใช้ยาเพื่อลดอาการและป้องกันการกลับเป็นซ้ำ ควบคู่กับ การรักษาทางจิตใจ ด้วยการพูดคุยให้ผู้ป่วยมีความเข้าใจตัวเอง และมีความพยายามที่จะปรับปรุงแก้ไขในส่วนที่ผิดปกติ พร้อมปรับกระบวนการคิดที่ส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง รวมทั้งทำจิตบำบัด พฤติกรรมบำบัด ออกกำลังกาย และครอบครัวบำบัด การฟื้นฟูสมรรถภาพต่างๆ

ความหวังและกำลังใจเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับผู้ป่วย หากได้รับการบำบัดรักษาและส่งเสริมดูแลอย่างเหมาะสม ย่อมสามารถคืนสู่สุขภาวะได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัวและสังคมด้วย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *