ดูแลสุขภาพอย่างไรให้ห่างไกล “โรคไต”

0

เรียกว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่น่ากังวลใจอันดับต้นๆ ของบ้านเราก็ว่าได้ สำหรับปัญหาผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่ง ถือว่าเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด ผู้ป่วยมักมีภาวะแทรกซ้อนทางร่างกายอย่างรุนแรง ส่งผลเสียต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและภาระค่าใช้จ่ายของครอบครัว

health-care-how-far-kidney-disease

สาเหตุสำคัญที่ทำให้ไตเกิดความผิดปกติ คือ…

  • โรคเบาหวาน
  • ความดันโลหิตสูง
  • โรคพันธุกรรมทางไต
  • การใช้ยามากเกินปริมาณที่กำหนด โดยเฉพาะยาที่เป็นพิษต่อไต ประเภทยาแก้ปวดข้อ ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งโดยปกติคนทั่วไปมักเข้าใจว่ายาในกลุ่ม OTC(Over-The-Counter Drugs)หรือยาที่สามารถหาซื้อได้ตามร้านยาเพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเป็นยาที่ ปลอดภัยเนื่องจากสามารถหาซื้อได้เองโดยไม่ต้องมีใบสั่งยา แต่ในความเป็นจริงแล้ว ยาเหล่านี้อาจสะสมในร่างกายและก่อให้เกิดอันตรายต่อไตได้

หากพบว่าเป็นโรคไตในระยะเริ่มต้นจะเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและชะลอความเสื่อมของไตให้อยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงปกติได้ แต่หากไม่ได้รับการรักษาไตจะเสื่อมลงเรื่อยๆจนเหลือไม่ถึง 10-15 เปอร์เซ็นต์ จนเกิดอาการไตวายระยะสุดท้าย ทำให้ผู้ป่วยต้องได้รับการรักษาด้วยการล้างไตหรือการผ่าตัดปลูกถ่ายไต ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที ผู้ป่วยมักเสียชีวิตในที่สุด

ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไตที่ควรได้รับการตรวจคัดกรอง ได้แก่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ เป็นซ้ำๆหลายครั้ง ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดโดยเฉพาะยาแก้ปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ รวมไปถึงผู้ที่มีประวัติสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคไต

หลักการดูแลสุขภาพไตในเบื้องต้นด้วยตนเองคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่มีรสเค็มจัด เช่น อาหารจานด่วน อาหารสำเร็จรูปแช่แข็ง อาหารกึ่งสำเร็จรูป ควบคุมระดับโลหิตและระดับน้ำตาลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ดื่มน้ำสะอาดวันละ 6-8 แก้ว งดบุหรี่และสุรา ออกกำลังกายสม่ำเสมออย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน วันละ 30 นาที หลีกเลี่ยงการกลั้นปัสสาวะ ตลอดจนหมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี จะทำให้ห่างไกลจากโรคไต

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *