เบลอ-เหม่อ-วูบ อาการ “โรคลมชัก” ที่คนมักไม่รู้

0

เมื่อกล่าวถึง “โรคลมชัก” หลายคนมักเข้าใจว่าอาการแสดงของผู้ป่วย คือ อาการชักเท่านั้น ทั้งที่จริงแล้ว อาการ “เหม่อลอย เบลอ วูบบ่อยๆ” เป็นอาการของโรคนี้ด้วย ผู้ป่วยโรคลมชักบางส่วนจึงเข้าใจผิดว่าตนแค่มีอาการวูบ ทำให้ไม่ไปรักษา นำไปสู่ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการรุนแรงในช่วงที่มีการชักถึงขั้นเสียชีวิตได้

นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า…

“โรคลมชัก” หรือ “ลมบ้าหมู” เป็นโรคเจ็บป่วยทางสมอง เกิดจากเซลล์สมองปล่อยคลื่นไฟฟ้าออกมาผิดปกติพร้อมกันอย่างเฉียบพลัน ทำให้การควบคุมการทำงานของสมองเสียไปชั่วคราว สาเหตุมาจากทั้งกรรมพันธุ์ ติดเชื้อในสมอง สมองขาดออกซิเจน ดื่มสุรา อุบัติเหตุทำให้เกิดแผลเป็นในสมอง เซลล์สมองอยู่ผิดที่ หรือมีเนื้องอกในสมอง

ในประเทศไทยคาดว่า มีผู้ป่วยเป็นโรคนี้ร้อยละ 1 หรือมีประมาณ 650,000 คน แต่ยังเข้ารับการรักษาน้อยประมาณร้อยละ 10 เนื่องจากเชื่อว่าว่าเป็นโรคจากไสยศาสตร์ และไม่เข้าใจอาการ

epilepsy-symptoms-that-people-do-not-know

ซึ่งนอกจากอาการชักแล้ว ยังมีอีกอาการคือ เบลอๆ เหม่อลอย ไม่รู้สึกตัวหรือที่เรียกว่า วูบไปชั่วขณะ อาจมีตาค้างหรือตาเหลือกด้วยได้  ซึ่งคนไทยยังรู้จักน้อยมาก และมักจะเข้าใจผิดว่าเป็นอาการวูบหรือเป็นลมทั่วไป จึงไม่ไปรักษา

หากมีอาการทั้ง 2 ชนิด ควรรีบพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของการชักให้เร็วที่สุดและให้การรักษาตามสาเหตุ หากได้รับการรักษาเร็ว โดยเฉพาะหลังจากมีอาการครั้งแรก จะมีโอกาสหายขาดได้สูง สามารถเรียนหนังสือ หรือทำงานที่เหมาะสมได้ แต่หากไม่รักษาก็จะมีอาการชักบ่อย บางรายอาจเกิดเป็นชุดๆ หรือเกิดตลอดวัน จะมีผลเสียที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะการชักแบบลมบ้าหมู อาจทำให้เซลล์สมองตาย และทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมตั้งแต่อายุยังน้อย นอกจากนี้ อาจทำให้เกิดโรคทางจิตเวชตามมาประมาณร้อยละ 30

การรักษาโรคลมชัก ต้องกินยาต่อเนื่อง อย่าหยุดยาเอง และไม่ลดจำนวนยาเอง ต้องใช้เวลารักษาไม่ต่ำกว่า 2 ปี จึงจะควบคุมอาการชักได้ผลดี

โดยแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาปรับลดหรือหยุดยาเอง ที่ผ่านมาผู้ป่วยมักจะไม่กินยา เพราะเข้าใจผิดว่ายาจะไปกดการทำงานของสมอง ทำให้โง่ ซึ่งข้อเท็จจริงนั้นยาที่รักษาไม่ได้ทำให้โง่ เพียงแต่ยาบางชนิดอาจทำให้ผู้ป่วยคิดช้า หรือมีอาการเซื่องซึมในระยะต้นๆ เมื่อเริ่มกินยาเท่านั้น การกินยาต่อเนื่อง จะทำให้การรักษาได้ผล และสามารถป้องกันการเกิดอาการแทรกซ้อนทางจิตเวชได้ด้วย

ทั้งนี้ หากเป็นไปได้ ให้บันทึกภาพเคลื่อนไหวของอาการชักที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปให้แพทย์วินิจฉัยแยกอาการชักจากโรคลมชักกับโรคอื่นๆ ด้วย จะช่วยให้การรักษาแม่นยำมากขึ้นค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *