คุณแม่ท้องฝากครรภ์ครั้งแรก ตรวจอะไรบ้างนะ?

0

การตรวจทางห้องปฏิบัติการ เป็นส่วนหนึ่งของการประเมินภาวะสุขภาพในหญิงตั้งครรภ์เพื่อเป็นข้อมูลในการติดตามถึงผลของภาวะสุขภาพของคุณแม่และทารก หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับการยืนยันว่าตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็น และนี่คือ 4 การตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเป็นในการมาฝากครรภ์ครั้งแรก

1. การตรวจเลือด

การส่งตรวจ CBC (complete blood count) การตรวจหาความเข้มข้นของเลือด (Hematocrit/Hct) จำเป็นจะต้องตรวจในหญิงตั้งครรภ์ทุกราย เพื่อดูลักษณะของเม็ดเลือดแดง จำนวนเม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด เป็นต้น จำเป็นต้องได้รับการตรวจเมื่อมาฝากครรภ์ครั้งแรก และครั้งที่สองเมื่ออายุครรภ์ 28 สัปดาห์ คุณแม่ท้องที่มีค่า Hct ต่ำกว่า 33% หรือ haemoglobin (Hb) น้อยกว่า 11 กรัมต่อเดซิลิตร ในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 3 แต่ถ้าหาก Hb < 10.5 กรัมต่อเดซิลิตร ควรได้รับการตรวจเพื่อหาสาเหตุของภาวะโลหิตจาง สำหรับการตรวจกรุ๊ปเลือด ABO และ Rh blood group เพื่อเตรียมเลือดไว้หากคุณแม่ตั้งครรภ์มีหมู่เลือดที่หายาก หรือการไม่เข้ากันระหว่างเลือดมารดาและทารก (blood incompatibility) กรณีที่สามีมีหมู่เลือด Rh negative และหญิงตั้งครรภ์มี Rh positive อาจส่งผลให้ทารกมีภาวะ hydrops fetalis และเสียชีวิตได้

2. การตรวจหาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในหญิงตั้งครรภ์มีหลายชนิดแต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยคือ โรคเอดส์ และโรคซิฟิลิส หลักการและวิธีการตรวจโรคเอดส์ในคุณแม่ตั้งครรภ์ต้องได้รับคำปรึกษาก่อนและหลังตรวจข้อมูลที่ได้ต้องเก็บเป็นความลับ ควรทำการตรวจทุกรายตั้งแต่ในช่วงแรกของการฝากครรภ์ เพราะจะได้รับดูแลที่เหมาะสมตั้งแต่ระหว่างตั้งครรภ์ ระยะคลอด และหลังคลอดเพื่อลดการติดเชื้อจากมารดาสู่ทารก สำหรับการตรวจคัดกรองการติดเชื้อเอชไอวีตรวจโดยการหาแอนติบอดีย์ ELISA หากให้ผลบวกต้องตรวจยืนยันทุกครั้งโดยหาแอนติบอดีย์ Western blot หรือ immunofluorescence assy (IFA)

3. การตรวจหาการติดเชื้อตับอักเสบบี (Hepatitis B surface antigen)

มีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากจะแพร่เชื้อจากมารดาไปสู่ทารกโดยผ่านทางรกได้ หรือติดเชื้อขณะคลอด และหลังคลอด HBsAg สามารถตรวจพบในสารคัดหลั่งเกือบทุกชนิดในร่างกาย เช่น น้ำลาย น้ำอสุจิ เลือด หรือการมีเพศสัมพันธ์ HBsAg เป็นแอนติเจนที่ตรวจพบได้ภายหลังติดเชื้อ มาร์คเกอร์สำคัญของไวรัสตับอักเสบบีที่สามารถตรวจทดสอบทางน้ำเหลือง ได้แก่ HBsAg และ HBsAb (anti-HBS), HBcAg และ HBcAb (anti-HBc), และ HBeAg และ anti-HBe หญิงตั้งครรภ์จะได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นไวรัสตับอักเสบบี เมื่อตรวจพบ HBsAg ในน้ำเหลือง และถ้าพบ HBeAg ร่วมด้วยจะมีโอกาสแพร่เชื้อสูง แต่สามารถป้องกันแพร่เชื้อไปยังทารกด้วยการให้ HBIG (hepatitis B immunoglobulin)

4. การคัดกรองพาหะธาลัสซีเมีย

คุณแม่ตั้งครรภ์จะได้รับการตรวจทุกรายโดยประกอบไปด้วย การตรวจหาค่า OF (osmotic fragility test) เพื่อประเมินขนาดเม็ดเลือดแดงโดยประเมินผลที่ได้เป็นค่าผลบวก และผลลบ การตรวจหาค่า MCV (mean corpuscular volume) ในคนปกติจะมีค่ามากกว่า 80 fl แต่ถ้าค่าที่ได้น้อยกว่า 80 fl แสดงว่าผลการตรวจคัดกรองเป็นบวก และการตรวจ DCIP หากพบว่าค่าที่ตรวจได้เป็นผลบวก ควรแนะนำให้สามีมารับการตรวจคัดกรอง เพื่อวินิจฉัยว่าเป็นธาลัสซีเมียชนิดใด โดยการส่งตรวจ Hemoglobin typing ต่อไป

คุณแม่ตั้งครรภ์ที่ได้รับการตรวจประเมินภาวะสุขภาพอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสม จะสามารถช่วยให้สามารถดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปจนถึงระยะคลอด และหลังคลอดได้ปกติและปลอดภัยทั้งตัวคุณแม่และเบบี๋ในท้อง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *