สร้างความสับสนให้คุณแม่ตั้งครรภ์ หรือหญิงที่วางแผนจะตั้งครรภ์ได้ไม่น้อย ต่อประเด็นที่ว่า ขณะตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายหรือไม่ บ้างก็มีความเชื่อที่ว่าขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถออกกำลังกายได้ บ้างก็ว่าการออกกำลังกายจะช่วยลดอาการไม่สบายต่าง ๆ ที่เกิดจากการตั้งครรภ์
แล้วอย่างนี้คุณแม่ควรจะทำยังไงดีน้า?
สำหรับคุณแม่ตั้งครรภ์ที่มีสุขภาพปกติทั่วไป ไม่มีโรคแทรกซ้อนใด ๆ สามารถออกกำลังกายรวมถึงกิจกรรมทางกายได้ตามปกติ โดยไม่มีอันตรายใด ๆ ทั้งยังเป็นประโยชน์ต่อแม่และเบบี๋ในครรภ์อย่างมากอีกด้วย
โดยก่อนหน้านี้ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) ได้สำรวจความเชื่อของประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปทั้ง 4 ภาค รวมทั้งเขตกทม.และปริมณฑล ในเดือนตุลาคม 2559 รวมกลุ่มตัวอย่าง 501 คน ผลปรากฏว่า บางส่วนยังเข้าใจเรื่องการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์ไม่ถูกต้อง โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 31 มีความเชื่อว่าขณะตั้งครรภ์ไม่สามารถออกกำลังกายได้ โดยกลุ่มอายุ 15-20 ปีเชื่อไม่ถูกต้องมากที่สุด
ประโยชน์ของการออกกำลังกายขณะตั้งครรภ์
- ช่วยลดอาการไม่สบายต่างๆที่เกิดจากการตั้งครรภ์ เช่น อาการคลื่นไส้ เวียนศีรษะ กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ลดอาการปวดหลัง ท้องผูก ท้องอืด อีกทั้งยังทำให้ระบบหัวใจและหลอดเลือดท่างานได้ดีขึ้น
- ช่วยให้ร่างกายสามารถเผาผลาญอาหารส่วนเกิน ไขมันจึงไม่สะสมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายมากนัก
- ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับการคลอดให้แข็งแรงขึ้น ทำให้คลอดได้ง่ายขึ้น ลดความเสี่ยงต่อการขาดออกซิเจนของทารกในครรภ์ ช่วยให้ทารกได้รับสารอาหารจากแม่มากขึ้น ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวที่เหมาะสม และลดอาการปวดในแม่ได้ หลังคลอดร่างกายของคุณแม่จะฟื้นตัวกลับคืนสู่สภาพปกติได้เร็ว
หญิงตั้งครรภ์สามารถมีกิจกรรมทางกายได้เหมือนคนปกติทั่วไป โดยไม่มีอันตรายใดๆ ทั้งในการทำงาน เช่น การเดินขึ้นลงบันได หรือในการเดินทาง เช่น เดินไปสถานที่ต่างๆ หรือการออกกำลังกายในเวลาว่าง อาทิ การเต้นแอโรบิก ว่ายน้ำ โยคะ การขี่จักรยานอยู่กับที่ ทั้งนี้ คุณแม่ท้องควรมีกิจกรรมทางกายอย่างน้อย วันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ โดยค่อย ๆ เริ่มเพิ่มระดับความหนัก และระยะเวลา แต่อย่าหักโหม
การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้ลูกแข็งแรง แม่ปลอดภัย แต่เพื่อความปลอดภัยคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์เพื่อเลือกประเภทหรือวิธีการออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายค่ะ