สำรวจตัวเอง! คุณเสี่ยงเป็นเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์หรือเปล่า?

0

โรคเบาหวาน ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดในหญิงตั้งครรภ์ ที่น่ากลัว คือ สามารถเกิดโรคนี้ขึ้นได้ แม้ว่าก่อนตั้งครรภ์คุณแม่จะมีสุขภาพแข็งแรง ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน ว่าแล้วมาสำรวจตัวเอง! คุณเสี่ยงเป็นเบาหวาน ขณะตั้งครรภ์หรือเปล่า? เพื่อเตรียมพร้อมรับมือแต่เนิ่นๆ ความเสี่ยงและอันตรายก็จะน้อยลง

เบาหวาน คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนำสารคาร์โบไฮเดรต (ประเภทแป้งและน้ำตาล) มาใช้ได้ตามปกติ อันมีสาเหตุมาจากฮอร์โมนอินซูลิน ส่งผลทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงกว่าปกติ โรคเบาหวานสามารถแบ่งได้เป็น 4 ชนิดตามเกณฑ์ของสมาคมโรคเบาหวานประเทศสหรัฐอเมริกา (American Diabetes Association) ซึ่งแบ่งตามสาเหตุการเกิดของโรค ได้แก่ โรคเบาหวานชนิดที่ 1, โรคเบาหวานชนิดที่ 2, โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ และโรคเบาหวานที่มีสาเหตุจำเพาะ ในบทความนี้จะโฟกัสไปที่ โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการที่มีภาวะดื้อต่ออินซูลินมากขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์ สาเหตุจากฮอร์โมนที่หลั่งมาจากรก และระดับฮอร์โมนต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป ภาวะเบาหวานชนิดนี้มักจะเป็นภาวะเบาหวานแอบแฝง คือ ถ้าอดอาหารแล้วมาเจาะเลือดเพื่อดูระดับน้ำตาล ระดับน้ำตาลจะปกติ แต่ถ้าให้หญิงมีครรภ์ดื่มน้ำหวาน (75 gram oral glucose tolerance test) ร่างกายจะไม่สามารถลดระดับน้ำตาลในเลือดได้ โดยทั่วไปโรคเบาหวานชนิดนี้มักจะหายได้หลังคลอด

ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อคุณแม่ที่มีภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ได้แก่ เสี่ยงต่อภาวะครรภ์พิษ, เกิดภาวะเสื่อมของระบบหลอดเลือด ตา ไต และปลายประสาท, เกิดความดันโลหิตสูงติดเชื้อได้ง่าย รวมถึงอาจชัก ช็อก แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนดได้ ส่วนผลกระทบที่อาจเกิดกับทารก ได้แก่ ทำให้ทารกตัวใหญ่ นำไปสู่ความเสี่ยงอันตรายขณะคลอด อาจเกิดการแท้ง คลอดก่อนกำหนด หรือทารกตายในครรภ์ได้, ระบบการหายใจของทารกมีพัฒนาการช้า ทำให้ไม่สามารถหายใจได้เองเมื่อแรกคลอด, เสี่ยงต่อภาวะเหลืองหลังคลอด, ระดับน้ำตาลในเลือดทารกต่ำ ระดับเกลือแร่ต่างๆ ผิดปกติ

เนื่องจากเมื่อตั้งครรภ์ รกจะสร้างฮอร์โมนหรือสารเคมีบางชนิดที่มีฤทธิ์ต่อต้านฮอร์โมนอินซูลินที่คอยคุมระดับน้ำตาลในเลือด ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ถ้าภาวะนี้ไม่ได้รับการควบคุม จะทำให้มีผลกระทบต่อทั้งตัวแม่และทารกในครรภ์ได้ โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่

-อายุ 35 ปีขึ้นไป เนื่องจากระบบของร่างกายที่เปลี่ยนไป

-น้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน (BMI > 25) โดยความอ้วนทำให้เกิดภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน เมื่อร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนน้ำตาลเป็นพลังงานได้ ระดับน้ำตาลในเลือดจึงสูงกว่าปกติ

-เคยเป็นโรคเบาหวาน

-พ่อแม่ พี่น้องเป็นโรคเบาหวาน เนื่องจากเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม โดยลูกที่มีพ่อหรือแม่เป็นเบาหวาน จะมีโอกาสเป็นเบาหวานร้อยละ 30 หากทั้งพ่อและแม่เป็นเบาหวาน โอกาสที่ลูกจะเป็นเบาหวานจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60

-เป็นโรคความดันโลหิตสูง หรือกำลังรับประทานยาลดความดัน

-มีไขมันในเลือดสูงก่อนตั้งครรภ์

-เป็นโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง

-ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะ

ฉะนั้น หากรู้ตัวว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงควรรีบไปฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ รวมถึงควรตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอก่อนตั้งครรภ์ พยายามรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้ใกล้เคียงปกติมากที่สุดทั้งก่อนและตลอดการตั้งครรภ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *