ความรักสวยรักงามกับผู้หญิงเป็นของคู่กัน ไม่เว้นแม้แต่คุณแม่ตั้งครรภ์หรือบรรดาแม่ลูกอ่อน ก็ยังอยากดูดี ผิวสวย หุ่นเป๊ะ การจะได้มาซึ่งรูปร่างสมส่วนนั้นมีหลายวิธี ที่มาแรงในช่วงไม่กี่ปีนี้ต้องยกให้ การควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนักด้วยการทำ IF ว่าแต่วิธีนี้คุณแม่ท้องและคุณแม่ให้นมบุตรจะสามารถทำได้ไหมนะ?
การทำ Intermittent Fasting หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า IF คือ วิธีการจัดเวลารับประทาน โดยการอดอาหารเป็นช่วง ๆ แบ่งได้เป็นช่วงอด (Fasting) และช่วงกิน (Feeding) ซึ่งแต่ละสูตรจะต่างกันไป มีตั้งแต่ 3-12 ชั่วโมง แต่วิธีที่ได้รับความนิยมก็คืออดอาหารเป็นเวลา 16 ชั่วโมง (รวมถึงเวลานอนด้วย) และรับประทานอาหารได้ในช่วงเวลา 8 ชั่วโมง
มีการศึกษาพบว่าการทำ IF มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้าน เช่น กระตุ้นการหลั่งของโกรทฮอร์โมนมากขึ้น ช่วยให้การหลั่งอินซูลินลดลง ทำให้การเก็บกลูโคสในเลือดเข้าสู่เซลล์ลดลง จึงมีการสะสมของไกลโคเจน และไขมันใต้ผิวหนังลดลง ช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ ลดการอักเสบ ลดการเกิดโรคเรื้อรังต่าง ๆ ช่วยทำให้สมองทำงานดีขึ้น ลดภาวะความจำเสื่อมได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ใช้ทุกคนที่เหมาะกับการดูแลรูปร่างด้วยวิธีการทำ IF เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้
หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร จัดเป็นกลุ่มที่ควรหลีกเลี่ยงการทำ IF เนื่องจากการอดอาหารระหว่างตั้งครรภ์อาจส่งผลให้แม่และเด็กในครรภ์ ขาดสารอาหาร โดยเฉพาะโฟเลทและธาตุเหล็ก ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตและพัฒนาการของทารกในครรภ์ รวมถึงหญิงให้นมบุตรที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทารกได้รับสารอาหารที่จำเป็น คือ น้ำนมแม่ ดังนั้น ถ้าร่างกายคุณแม่ขาดสารอาหารที่สำคัญ เช่น วิตามิน และแร่ธาตุ ลูกก็จะขาดสารอาหารไปด้วยเหมือนกัน
นอกจากนี้ การทำ IF อาจส่งผลในทางลบต่อคนที่กำลังอยากมีลูก เนื่องจากการที่ฮอร์โมนเพศที่เกี่ยวข้องกับการตกไข่จะทำงานได้ดี ต้องได้รับพลังงานจากอาหารอย่างเพียงพอ และมีระดับไขมันที่เหมาะสม หากเรากำลังอยู่ในภาวะเครียด เช่น งดอาหารอย่างหนัก ลดน้ำหนักอย่างหนัก ร่างกายจะคิดว่าร่างกายอยู่ในภาวะอันตราย ร่างกายจะลดการทำงานของฮอร์โมนเอสโตรเจน และโปรเจสเตอโรน ทำให้ไข่ไม่ตก หรือประจำเดือนผิดปกติได้ ทำให้โอกาสในการมีลูกยากขึ้น
การทำ IF ในบางรายอาจไม่ใช่วิธีที่เหมาะสม อยากรูปร่างดี ห่างไกลความอ้วนแนะนำให้เปลี่ยนพฤติกรรมต่าง ๆ ดังนี้
1. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เน้นโปรตีน ผัก ผลไม้ ในปริมาณที่เหมาะสม
2. เลิกรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์หรืออาหารที่ให้โทษต่อร่างกาย เช่น ของมัน ของทอด ของหวาน ขนมกรุบกรอบต่าง ๆ และเมื่อกินอาหารแต่ละมื้อ ให้ลดเค็มหรือโซเดียมให้น้อยลง ลดหวานโดยเฉพาะน้ำตาล ไม่กินจนอิ่มแน่น
3. เลือกรับประทานอาหารที่มีแคลอรีต่ำ โปรตีนสูง เช่น ข้าวไม่ขัดสี เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน เนื่องจากมีไขมันน้อยและย่อยได้ง่าย หันมาเลือกเมนู ต้ม นึ่ง ย่าง และเพิ่มผัก ผลไม้เข้าไปในทุกมื้อจะช่วยให้ร่างกายได้รับวิตามิน แร่ธาตุ
4. ดื่มน้ำเปล่าสะอาดให้เพียงพอ
5. ออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเลือกวิธีออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสภาพร่างกาย
6. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 8 ชั่วโมง
7. ทำใจให้สบาย คิดบวก ห่างไกลความเครียด
ทั้งนี้ สภาพร่างกายของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน หากคุณแม่ท้องอยากลดความอ้วน ควรศึกษาข้อมูลอย่างละเอียดหรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ รวมทั้งตรวจร่างกายก่อนเสมอ