หลักการกิน 6 ข้อเพื่อสุขภาพที่ดีทั้งแม่และเบบี๋

0

มนุษย์ต้องการอาหารเพื่อใช้เป็นพลังงาน ช่วยในการเจริญเติบโตและช่วยซ่อมแซมร่างกายส่วนที่สึกหรอให้สมบูรณ์ อย่างไรก็ตามแต่ละคนแต่ละช่วงวัยมีความต้องการอาหารที่แตกต่างกัน ในส่วนของคุณแม่ตั้งครรภ์นั้น นี่คือหลักการกิน 6 ข้อเพื่อสุขภาพที่ดีทั้งแม่และเบบี๋

­1. กินอาหารมื้อหลัก 3 มื้อ คือ มื้อเช้า มื้อกลางวัน มื้อเย็น  และมีอาหารว่างซึ่งเป็นอาหารระหว่างมื้อ

2. กินอาหารกลุ่มเนื้อสัตว์ให้หลากหลาย รวมทั้งไข่ ถั่วเมล็ดแห้งและผลิตภัณฑ์จากถั่ว เช่น เต้าหู้ เพื่อให้ได้โปรตีน กรดไขมันจำเป็น แร่ธาตุ และวิตามิน ซึ่งจำเป็นต่อการสร้างเนื้อเยื่อต่าง ๆ รวมทั้งการเจริญเติบโตของเซลล์สมองของทารก

2.1 กินปลา โดยเฉพาะปลาทะเลอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ครั้ง จะช่วยให้ได้รับ DHA ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นในกลุ่มโอเมก้า 3 ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง และระบบประสาทเกี่ยวกับการพัฒนาเรียนรู้และจอประสาทตาซึ่งเกี่ยวกับการมองเห็นของทารกในครรภ์

2.2 กินอาหารที่เป็นแหล่งแร่ธาตุเหล็ก สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เช่น ตับ เลือด เนื้อสัตว์ โดยเฉพาะเนื้อแดง

2.3 กินอาหารที่มีวิตามินสูงร่วมด้วย เช่น ฝรั่ง มะขามป้อม มะละกอสุก ส้ม เป็นต้น เพื่อช่วยในการดูดซึมธาตุเหล็ก

2.4 กินไข่สัปดาห์ละ 3-7 วัน เพื่อให้ได้โปรตีนคุณภาพดี และยังให้วิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญหลายชนิด เช่น วิตามินเอ วิตามินบี เลซิติน เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไข่แดงมีคอเลสเตอรอลสูง (ไข่ 1 ฟองมีคอเลสเตอรอล 200 มิลลิกรัม) ปริมาณที่แนะนำคือ ไม่เกินวันละ 200 มิลลิกรัม ดังนั้น จึงควรบริโภควันละไข่ไม่เกิน 1 ฟอง

3. กินอาหารกลุ่มผักและผลไม้เป็นประจำทุกวัน และกินให้หลากหลายสี เช่น สีเหลือง สีส้ม สีแดง สีเขียวเข้ม สีม่วง สีขาว เป็นต้น เพื่อให้ได้วิตามินและแร่ธาตุครบถ้วนเพียงพอ

4. กินอาหารที่เป็นแหล่งแคลเซียมเป็นประจำทุกวัน โดยเฉพาะนม เป็นแหล่งแคลเซียมที่ดีที่สุด เนื่องจากมีปริมาณแคลเซียมสูงและดูดซึมได้ดี หากดื่มนมแล้วมีอาการท้องอืด แน่นท้องมีแก๊สในกระเพาะ หรือท้องเสีย สามารถแก้ไขได้โดยดื่มนมทีละน้อย และค่อย ๆ เพิ่มปริมาณนมให้ได้ตามที่แนะนำ รวมถึงไม่ดื่มนมในขณะท้องว่าง ควรกินอาหารว่างก่อนแล้วค่อยดื่มนม หากทำตามคำแนะนำดังกล่าวแล้วยังมีอาการ ให้เปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์นมที่ผ่านการหมักแล้ว เช่น โยเกิร์ต (ควรเป็นโยเกิร์ตชนิดธรรมดา เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลน้อยกว่าโยเกิร์ตที่ผสมผลไม้) นอกจากนมและโยเกิร์ตยังมีแหล่งแคลเซียมจากอาหารอื่น ๆ เช่น เนยแข็ง ปลาเล็กปลาน้อย ปูกะตอยทอด กุ้งฝอย เต้าหู้ เป็นต้น

5. ปรุงอาหารด้วยเกลือหรือเครื่องปรุงรสเค็มเสริมไอโอดีนทุกครั้ง โดยปรุงด้วยเกลือไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา หรือน้ำปลาไม่เกินวันละ 5 ช้อนชา เพื่อป้องกันโรคขาดสารไอโอดีน และได้รับโซเดียมไม่เกินปริมาณที่กำหนด

6. ให้กินยาเม็ดรวมเสริมไอโอดีน (150 ไมโครกรัม) ธาตุเหล็ก (60 ไมโครกรัม) กรดโฟลิก (400 ไมโครกรัม) ทุก ๆ วัน วันละ 1 เม็ด เพื่อป้องกันการขาดไอโอดีน ธาตุเหล็ก และโฟเลต

ทั้งนี้ คุณแม่ท้องไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะอาจทำให้คลอดก่อนกำหนด ทารกตายในครรภ์ หรือเกิดมาพิการ มีพัฒนาการผิดปกติ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *