เป็นป๋า/เจ๊ดัน ให้เจ้าตัวน้อยแจ้งเกิดบนเวทีอย่างไรให้เหมาะสม

0

ความสุขที่ได้เห็นลูกหลานได้ไปยืนบนเวที แสดงความสามารถต่างๆ ไม่ว่าจะร้องหรือเต้น มันเป็นความสุขที่เปี่ยมล้นอย่างบอกไม่ถูก แต่คุณทราบหรือไม่ว่าการฝึกฝนให้เด็กตัวเล็กๆ ได้ใช้ความสามารถและพรสวรรค์ของเขานั้นมีมาตั้งแต่สมัยยุควิคตอเรียโน่นแล้ว ดังนั้น หากคุณเห็นพ่อแม่ในยุคปัจจุบันนี้ต่างเคี่ยวเข็ญผลักดันลูกๆ ให้ใช้ความสามารถด้านร้องเล่นเต้นรำจึงไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า แม้เด็กบางคนที่ไม่ได้รักในศิลปะการแสดหรือไม่มีความต้องการที่จะร้องเพลงหรือเต้นรำก็สามารถเข้าร่วมคลาสการเรียนการสอนได้ เพราะเป็นการช่วยเสริมความมั่นใจในตัวเองให้กับเด็ก รวมทั้งการรักและยอมรับในตัวเองมากขึ้น ดังนั้น การให้เขาได้เข้าเรียนบ้างก็ถือเป็นเรื่องดี แต่ถ้าจะผลักดันไปถึงการเข้าประกวดแข่งขันได้ก็ยิ่งดีใหญ่ แล้วแต่ความสามารถและความปรารถนาของเด็กเป็นสำคัญ

onstage1

ไม่ใช่แค่ร้องเล่นเต้นรำ

ฟิโอน่า วอล์กเกอร์ ผู้อำนวยการแห่งสถาบัน Julia Gabriel Centre for Learning ประเทศสิงคโปร์ ให้คำแนะนำว่าโปรแกรมการเรียนการสอนคอร์สเหล่านี้ดีอย่างไร เธอกล่าวว่า ปัจจุบัน โปรแกรมการเรียนการสอนศิลปะการแสดงสำหรับเด็กพัฒนาขึ้นมาก และมีคลาสมากมายหลายคลาส ไม่ว่าจะเป็น ดนตรี การเคลื่อนไหว ร้องเพลง กล่าวสุนทรพจน์ ละคร บัลเล่ต์ และการเต้นรำประเภทอื่นๆ อีก ซึ่งโปรแกรมเหล่านี้ส่วนใหญ่จะรวมไปถึงพื้นฐานทางการแสดงทั่วไป

“ข้อดีของโปรแกรมทั้งหมดนี้คือมันช่วยในการพัฒนาความมั่นใจและการรักในคุณค่าของตัวเองด้วย ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าได้ทำอะไรที่ประสบความสำเร็จรวมทั้งยังได้สนุกกับการเข้าสังคม การทำงานเป็นทีม พัฒนาทักษะของความร่วมมือและความรับผิดชอบตั้งแต่อายุยังน้อย”

onstage2

“เวที” คุณครูที่ดีที่สุด

ในอีกทางหนึ่ง การส่งเสริมให้เด็กก่อนวัยเรียนเข้าประกวดหรือเข้าแข่งขันการแสดงอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นการสอนให้เด็กได้พบเจอกับอะไรแปลกใหม่ ให้เขาได้เรียนรู้และสัมผัสกับประสบการณ์จริงด้วยตัวเอง รวมทั้งได้ใช้ความสามารถของเขาแสดงออกต่อหน้าผู้คนบนเวทีอีกด้วย

ความรู้สึกของเด็กก่อนวัยเรียนที่ได้ไปแสดงบนเวทีตามลำพัง สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นบทเรียนและเป็นประสบการณ์ที่จะสอนเขาเอง ว่าเขามีความสามารถมากแค่ไหนที่จะทำบางสิ่งบางอย่างได้ด้วยตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ควรจะทำก็คือ ปล่อยให้เขาทำด้วยตัวเอง เรามีหน้าที่แค่คอยดูอยู่ที่หน้าเวทีก็พอ หรือบางท่านอาจจะถ่ายภาพถ่ายวิดีโอเก็บเอาไว้ แม้ว่าเขาจะทำพลาดก็ไม่เป็นไร ทุกอย่างบนเวทีจะสอนเขาได้เอง

ฟิโอน่า กล่าวว่า “ชั้นเชื่อว่าการให้กำลังใจเด็กเล็กๆ เพื่อพัฒนาพรสวรรค์และความมั่นใจของเขาผ่านประสบการณ์เหล่านี้จะสร้างให้เขาเติบโตเป็นเด็กที่มีความมั่นใจในตัวเองอย่างเหมาะสม อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กที่อ่อนไหวมากๆ การประกวดหรือการแข่งขันอาจจะเป็นการทำร้ายเขาทางอ้อมได้หากว่าเขาเกิดไม่ชนะขึ้นมา ดังนั้น ผู้ปกครองต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ”

onstage3

มากแค่ไหนจึงพอ

อย่างไรก็ตาม ข้อสังเกตหนึ่งก็คือหากเราพบว่าลูกเกิดความเครียดหรือแสดให้เห็นถึงความวิตกกังวลใจ นั่นอาจจะเป็นสัญญาณเตือนว่าอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ดีสำหรับลูกก็ได้ ก็แนะนำให้หยุดเสีย

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญอีกอย่างที่คุณควรพิจารณาว่าน่าจะเลิกได้แล้ว ก็คือหากการฝึกซ้อมหรือแรงกดดันในการแข่งขันมันมากเกินไปจนทำให้สูญเสียเวลาที่จะอยู่กับครอบครัว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่สุดนั้น ก็อาจจะเห็นว่านี่ไม่ใช่สิ่งที่คุณและลูกต้องการแล้ว

เด็กก่อนวัยเรียนควรจะสนุกและเอ็นจอยไปกับโปรแกรมหรือกิจกรรมต่างๆ ที่พวกเขามีส่วนร่วม การผลักดันมากไปหรือกดดันให้แข่งขันอาจเป็นการผลักไสให้แรงปรารถนาที่เขามีถอยห่างออกไป อย่าลืมว่าโปรแกรมเหล่านี้จัดมาเพื่อการเรียนรู้ มิได้มุ่งประกวดประชัน

แพ้-ชนะ สำคัญฉไน

ในการประกวดประเภทความสามารถหรือพรสวรรค์ด้านต่างๆ อาทิ วาดภาพ ระบายสี ประกวดความงาม ร้องเพลง เต้นรำ ส่วนใหญ่จะมีเด็กเข้ามาสมัครแข่งขันกันมากอยู่แล้ว

สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ลังเลว่าจะให้ลูกลงประกวดแบบไหนดี สิ่งสำคัญที่จะต้องจำให้ได้ก็คือ การแข่งขันในด้านความสามารถนั้นก็เหมือนกับการแข่งขันกีฬา ข้อแตกต่างเพียงอย่างเดียวก็คือไม่ได้ใช้กำลังใดๆ เพียงแค่มีความกล้าในการแสดงออกแล้วก็ระเบิดมันออกมาบนเวทีเท่านั้น ส่วนเรื่องผลแพ้ชนะขอให้เป็นเรื่องรอง เพราะอย่างน้อยสิ่งที่ลูกได้รับแน่ๆ ก็คือการพัฒนาบุคลิกภาพและความมั่นใจในตัวเอง

นอกจากนี้ หัวใจที่สำคัญของการประกวดก็คือ การเรียนรู้จิตวิญญาณของการแข่งขัน นั่นก็คือ “ต้องมีแพ้มีชนะ”.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *