ไข้เลือดออก ได้ชื่อว่าเป็นภัยสุขภาพที่ต้องเฝ้าระวังตลอดทั้งปี โดยเฉพาะในฤดูฝนที่มีการระบาดสูง เพราะเป็นช่วงที่ยุงลายแพร่พันธุ์มากที่สุด อาการของโรคไข้เลือดออก มีตั้งแต่อาการน้อย ปานกลาง รุนแรง จนถึงเสียชีวิต ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน คือ เด็กอ้วน
โรคไข้เลือดออก เกิดจากเชื้อ Dengue virus (DENV) ซึ่งมีสายพันธุ์ย่อยทั้งหมด 4 สายพันธุ์ ได้แก่ DENV-1, -2, -3, และ -4 ทุกสายพันธ์เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก และทำให้มีอาการรุนแรงได้ โรคไข้เลือดออกสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียน และวัยทำงานตอนต้น ผู้ที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อน ได้แก่ เด็ก ผู้สูงอายุ ผู้มีภาวะอ้วน หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่เป็นโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง
แพทย์หญิงโรจนี เลิศบุญเหรียญ อาจารย์กุมารแพทย์ประจำสาขาเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงสำหรับโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็ก ความรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในเด็กแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจมีไข้สูง 1-2 วันแล้วก็หาย แต่สำหรับเด็กบางคนมีอาการไข้สูง 3-5 วัน แทนที่เมื่ออาการบรรเทาลงแล้วจะกลับมาร่าเริงใช้ชีวิตปกติตามประสาเด็ก แต่กลับมีภาวะเลือดออก ช็อก และขาดน้ำในช่วงที่ไข้ลง โดยเฉพาะเด็กอ้วน
เด็กอ้วน ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงและสร้างความกังวลให้กับแพทย์มากที่สุด เด็กที่อยู่ในภาวะอ้วนมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้เลือดออกที่รุนแรงได้มากกว่าเด็กปกติ เนื่องจากมีการอักเสบของร่างกายที่อาจจะรุนแรงกว่าเด็กปกติ และสังเกตอาการได้ยากกว่า อีกทั้งยังพบว่าในการเจาะเลือดเพื่อตรวจ หรือให้การรักษาด้วยการให้สารน้ำในช่วงวิกฤต เช่น การให้น้ำเกลือในปริมาณที่เหมาะสมและยาทางหลอดเลือดดำ ทำได้ยากกว่าเด็กปกติ จำเป็นต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ
ภาวะไขมันเยอะในเด็กอ้วน ยังส่งผลต่อความล่าช้าในการรักษา เนื่องจากทีมแพทย์จะต้องใช้ความรอบคอบมากยิ่งขึ้น ทั้งการคำนวณน้ำหนักที่มีผลต่อการให้สารน้ำ เพราะหากคำนวณผิดพลาดแล้วให้สารน้ำมากเกินไปอาจมีผลกับหัวใจ แต่หากให้น้อยเกินไป จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและช็อก การอัลตราซาวน์ทำได้ยาก รวมถึงความดันในช่องท้องจากไขมันในช่องท้อง โอกาสในการรักษาให้หายจะยิ่งยากมากขึ้นและเสี่ยงต่อการเสียชีวิตได้
ปัจจุบันการตรวจหาเชื้อไวรัสเดงกีจากโรคไข้เลือดออก สามารถตรวจพบเชื้อได้ตั้งแต่วันที่ 1-3 ที่มีอาการไข้สูง ผ่านการตรวจจากแอนติเจนในเลือด ซึ่งพบค่าความแม่นยำถึง 90% ในช่วงนี้แพทย์จะรักษาตามอาการ เช่น หากมีไข้สูงก็ให้กินยาลดไข้ หรือมีอาการขาดน้ำก็ให้จิบน้ำเกลือแร่บ่อย ๆ หลังจากนั้นประมาณ 3-5 วันจะนัดมาติดตามอาการด้วยการเจาะเลือดซ้ำเพื่อประเมินภาวะหรืออาการ หากตรวจพบเกล็ดเลือดต่ำลงเยอะเมื่อเทียบกับผลครั้งแรก มีภาวะเลือดออก ต้องเข้าสู่กระบวนการแอดมิดในโรงพยาบาลเพื่อดูอาการภายใน 24-48 ชั่วโมงไปแล้ว หากเด็กยังสบายดี ร่าเริง แสดงว่าหายดีแล้ว แต่ถ้าในช่วงเวลาดังกล่าว เด็กมีอาการปวดท้องจำเป็นต้องส่งตรวจเพราะอาจมีปัญหาตับอักเสบร่วมด้วย
วิธีป้องกันโรคไข้เลือดออกที่ดีที่สุดคือ การไม่โดนยุงกัดและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย รวมถึงรักษาสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยงที่เป็นเด็ก ควรระวังไม่ให้มีภาวะอ้วน เพราะหากป่วยจะเสี่ยงต่อการเกิดภาวะรุนแรงได้