ณ ตอนนี้ ในประเทศไทย กัญชาและกัญชง ถูกปลดล็อก ไม่จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 อีกต่อไป แม้จะเป็นประโยชน์ต่อแวดวงการวิจัยทางการแพทย์ต่าง ๆ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องน่าห่วงไม่น้อย เพราะการใช้กัญชาในทางที่ผิด ส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ และนี่คือ ผลกระทบสุดอันตรายของกัญชาต่อเด็ก
ผลกระทบของกัญชาต่อเด็ก
1. การทำงานของสมองแย่ลง เนื้อสมองน้อยลง ความจำสั้น-เสื่อมในระยะยาว ระดับเชาว์ปัญญาต่ำลง คิดวิเคราะห์ถดถอย ขาดสมาธิ การเรียนรู้-ผลการเรียนที่แย่ลง
2. ผลกระทบต่อสมองระยะสั้น เช่น ซึม สับสน วุ่นวาย พูดผิดปกติ เดินไม่ตรง ประสาทหลอน อารมณ์หรือพฤติกรรมรุนแรง อาการทางจิตเวช ชัก ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ เป็นต้น
3. ผลกระทบต่อสมองระยะยาว เช่น การเรียนตกลง ความจำไม่ดี ความคิดแย่ลง การตัดสินใจควบคุมตัวเองเปลี่ยนไป โรคหลอดเลือดสมอง พฤติกรรมเปลี่ยน เพิ่มโอกาสเกิดโรคทางจิต และ มีโอกาสติดสารเสพติดชนิดอื่น ๆ เป็นต้น
4. มีอาการทางระบบประสาทเฉียบพลัน เช่น ซึม อาละวาด เวียนศีรษะ ชัก แขนขาอ่อนแรง
5. เกิดอาการไม่พึงประสงค์ หรือภาวะเฉียบพลันในระบบหัวใจและระบบทางเดินอาหารได้ด้วย ได้แก่ หน้ามืด วูบหมดสติ แน่นหน้าอก ชีพจรเต้นผิดจังหวะ เหนื่อย หายใจไม่สะดวก ความดันโลหิตสูง/ ต่ำ คลื่นไส้ อาเจียน ปากแห้ง คอแห้ง และ ปวดท้อง
6. เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย
7. เสี่ยงเป็นโรคจิตเภท หูแว่ว ภาพหลอน หวาดระแวง
8. เพิ่มความเครียด อาการแพนิค ภาวะวิตกกังวล ซึ่งบางคนพบได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ใช้ บางคนพบได้ในช่วงหลังของการใช้
9. อยู่ในสภาวะมึนเมาจนเกิดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น อุบัติเหตุจราจร พลัดตกที่สูง พฤติกรรมทางเพศที่ขาดการป้องกัน
10. เสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมเกเร ก้าวร้าว ทำผิดกฎหมาย ผลการเรียนตกต้องออกจากระบบโรงเรียน
11. เสพติดกัญชาจนหมกมุ่น ละเลยกิจกรรมสังคมและสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ส่งเสริมพัฒนาการตามวัย
12. ส่งผลต่อสุขภาพเมื่อใช้ในปริมาณสูง ปากแห้ง คอแห้ง ท้องผูกคลื่นไส้ อาเจียนระบบประสาทอัตโนมัติทำงานผิดปกติอาจถึงขั้นหมดสติได้
อย่างไรก็ตาม ความที่เด็กเป็นวัยที่อยากรู้อยากเห็น บางครั้งผู้ปกครองอาจไม่สามารถดูแลให้อยู่ในสายตาได้ตลอดเวลา จนนำไปสู่การใช้กัญชาได้ ทั้งนี้ หากพบว่าเด็กมีอาการแพ้กัญชา สามารถแก้ไขได้เบื้องต้น ดังนี้
หากมีอาการคอแห้ง : ให้ดื่มน้ำเปล่าตามในปริมาณมาก ๆ หรือ ดื่มน้ำมะนาวผสมน้ำผึ้ง หรือน้ำตาลทราย
หากมีอาการมึนเมา : ให้บีบมะนาวครึ่งลูก ผสมเกลือปลายช้อนแล้วกิน หรือเคี้ยวพริกไทยแก้เมา
หากวิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน : ให้ดื่มชาชงขิงหรือน้ำขิง หรือชงรางจืด ดื่มวันละ 3 เวลา แก้อาการโคลงเคลง
แต่หากมีอาการหนัก ได้แก่ หัวใจเต้นเร็วผิดจังหวะ เหงื่อแตก ตัวสั่น อึดอัด เจ็บหน้าอกร้าวไปที่แขน หายใจไม่สะดวก เดินเซ พูดไม่ชัด สับสน กระวนกระวาย อารมณ์แปรปรวน หูแว่ว ภาพหลอน วิตกกังวล ควรรีบพาไปพบแพทย์ทันที