เด็กทารกที่เกิดใหม่ยังมีภูมิคุ้มกันที่ไม่สมบูรณ์ น้ำนมแม่เปรียบเสมือนวัคซีนหยดแรกสำหรับเด็ก เพราะมีภูมิคุ้มกันโรคจำนวนมากที่จะช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูกน้อย ทำให้ทารกเติบโตได้สมบูรณ์แข็งแรง ท่ามกลางสถานการณ์ที่โควิดยังอยู่รอบตัว คำถาม คือ คุณแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 สามารถให้นมลูกน้อยได้หรือไม่ อย่างไร
องค์การอนามัยโลก (WHO) และและองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) แนะนำว่า ลูกควรได้กินนมแม่อย่างเดียว ตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน และควรกินต่อเนื่องไปจนลูกอายุ 2 ปี หรือนานกว่านั้น ควบคู่กับอาหารตามวัยที่เหมาะสม เนื่องจากนมแม่เป็นอาหารที่เหมาะสมที่สุดสำหรับลูกด้วยองค์ประกอบด้านโภชนาการ การเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน สารต่อต้านอนุมูลอิสระ วิตามิน และยังมีเซลล์สิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งจากเซลล์จากแม่ รวมถึงแบคทีเรียที่ดีต่อระบบทางเดินอาหารของลูกด้วย
ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังคงมีการแพร่ระบาด แม่หลังคลอดที่เป็นผู้เข้าข่ายสงสัยติดเชื้อ หรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ยังคงให้ลูกกินนมแม่ได้ ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและยูนิเซฟ ในกรณีที่แม่ติดเชื้อแต่มีอาการไม่มาก สามารถให้นมจากเต้า ได้ปกติ แต่ต้องมีการป้องกัน และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อ ดังนี้
1. ลูกควรอยู่ห่างจากแม่อย่างน้อย 2 เมตร หรือมีม่านกั้น
2. สวมหน้ากากอนามัยตลอดระยะเวลาที่อยู่กับลูก
3. ล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เข้มข้น 70 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป ก่อนการสัมผัสตัวลูก
4. ก่อนการให้นมลูกทุกครั้งควรเช็ดทำความสะอาดบริเวณเต้านม และหัวนมด้วยน้ำสบู่ เพื่อเป็นการทำความสะอาด/ฆ่าเชื้อพื้นผิวที่ปนเปื้อน
5. ห้ามใช้มือสัมผัสบริเวณใบหน้า จมูกหรือปาก รวมถึงการหอมแก้มลูกขณะให้นม
6. ทำความสะอาดฆ่าเชื้อบริเวณพื้นผิวต่าง ๆ ที่คุณแม่สัมผัส
7. ล้างทำความสะอาดหน้าอก เมื่อมีการไอหรือจามรดหน้าอก
8. ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์เช่น ที่ปั๊มนม ขวดนม ด้วยน้ำยาล้างอุปกรณ์และทำการนึ่งเพื่อฆ่าเชื้อหลังเสร็จสิ้นกิจกรรม
หากแม่ไม่สะดวกที่จะให้นมจากเต้า ยังคงสามารถบีบเก็บน้ำนมได้ ควรให้พ่อหรือผู้ช่วย เป็นผู้ป้อนนมให้ลูกแทน โดยวิธีการนำน้ำนมแม่มาป้อนด้วยการใช้ช้อน หรือถ้วยเล็ก สำหรับผู้ช่วยป้อนนมให้ลูกแทน จะต้องเป็นผู้ที่มีสุขภาพดี มีทักษะในการป้อนนม รวมถึงมีความรู้และเข้าใจหลักการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้ออย่างเคร่งครัด
ในกรณีที่แม่ติดเชื้อมีอาการรุนแรง แนะนำว่าควรงดให้นมบุตร และอาจบีบน้ำนมทิ้งไปก่อนเพื่อให้แม่คงสภาพที่สามารถให้นมลูกได้เมื่ออาการดีขึ้น ทารกที่เกิดจากแม่ที่ติดเชื้อโควิด-19 จัดเป็นผู้มีความเสี่ยงจะต้องได้รับการตรวจหาเชื้อและสังเกตอาการเป็นเวลา 14 วัน
ที่สำคัญ แม่หลังคลอดที่ให้นมลูกควรเข้ารับการฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ หรือวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ลดการเจ็บป่วยรุนแรง โดยภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นในแม่ ยังสามารถส่งผ่านน้ำนมไปยังลูกได้ด้วย