ช่วงนี้อากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เดี๋ยวร้อน เดี๋ยวเย็น เดี๋ยวฝน ส่งผลให้เบบี๋เจ็บป่วยด้วยโรคปอดอักเสบติดเชื้อกันเป็นจำนวนมาก ที่น่ากังวลคือ โรคปอดอักเสบติดเชื้อในเด็กนี้เป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้เกิดความพิการและเสียชีวิตได้ ดังนั้น สิ่งที่พ่อแม่ควรรู้คือทำความรู้จักโรคนี้ว่ามีสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันอย่างไร?
โรคปอดอักเสบติดเชื้อในเด็ก หรือที่คุ้นเคยกันในชื่อ โรคปอดบวม เป็นโรคที่พบบ่อย โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด มีโรคหัวใจ มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องหรือมีภาวะขาดอาหาร และในกรณีที่อาการรุนแรงอาจส่งผลให้มีภาวะหายใจล้มเหลวได้ ซึ่งพบว่าในแต่ละปีมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตจากโรคปอดอักเสบไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคนทั่วโลก
สาเหตุโรคปอดอักเสบติดเชื้อ
โรคปอดอักเสบติดเชื้อ เกิดจากการติดเชื้อในปอด ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย หรือทั้งเชื้อไวรัสและแบคทีเรียร่วมกัน ส่วนน้อยอาจเกิดจากเชื้อวัณโรคหรือเชื้อรา เชื้อแบคทีเรียที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อนิวโมคอคคัส เชื้อฮิบ หรือเชื้อไมโครพลาสมา เชื้อไวรัสที่พบบ่อยในเด็ก เช่น เชื้อ RSV ไข้หวัดใหญ่ Adenovirus Influenza โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุมักอยู่ในน้ำลายหรือเสมหะของผู้ป่วย โรคปอดอักเสบติดเชื้อสามารถติดต่อได้หลายทาง ตั้งแต่การหายใจรับเอาเชื้อเข้าสู่ปอดโดยตรง การแพร่กระจายทางกระแสเลือด บางส่วนอาจเกิดจากการสำลักอาหาร การแพร่กระจายตามกระแสเลือด หรือแพร่ผ่านจากมือคนซึ่งมีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อโรคปะปนอยู่ไปสู่อีกคน
อาการโรคปอดอักเสบติดเชื้อ
ผู้ป่วยโรคปอดอักเสบติดเชื้ออาจจะมีไข้ ไอมีเสมหะ หายใจหอบเหนื่อยหรือหายใจลำบาก ขณะหายใจมีชายโครงหรือหน้าอกบุ๋ม ในเด็กเล็กอาจมีอาการซึม ไม่ดูดนม หรือชักจากมีไข้สูง ส่วนในเด็กโตอาจมีอาการเจ็บหน้าอกเวลาหายใจเข้าออกลึก ๆ ร่วมด้วย และในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจส่งผลให้มีน้ำหรือหนองในช่องเยื่อหุ้มปอด มีฝีในปอดหรือมีภาวะหายใจล้มเหลวได้ โดยผู้เลี้ยงดูสามารถสังเกตถึงอาการหอบได้โดยนับอัตราการหายใจ หากผู้ป่วยมีอัตราการหายใจเร็วกว่าปกติตามเกณฑ์อายุ ร่วมกับอาการไม่กินนม และหายใจแรง ควรรีบพาเบบี๋มาพบแพทย์
วิธีป้องกันโรคปอดอักเสบติดเชื้อ
1. หมั่นล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ ทั้งมือของเบบี๋และของผู้เลี้ยงดู
2. พาเบบี๋ไปฉีดวัคซีนเพื่อเสริมภูมิคุ้มกัน เช่น วัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ วัคซีนป้องกันโรคจากเชื้อฮิบ (Hib), วัคซีนป้องกันโรค Pneumococcus (IPD) โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อชนิดรุนแรง เช่น เด็กที่ไม่มีม้าม มีโรคไตชนิดเนโฟรติก หรือมีโรคเรื้อรังอื่น ๆ เช่น ไตวาย โรคหัวใจ โรคปอด โรคเบาหวาน หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงเด็กที่ฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กเล็ก
3. หลีกเลี่ยงการพาเบบี๋ไปในสถานที่แออัด หรืออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย
4. ดูแลให้เบบี๋อยู่ห่างไกลมลภาวะทางอากาศ ควันบุหรี่ ควันไฟ ควันจากท่อไอเสียรถยนต์ หรืออากาศที่หนาวเย็นเกินไป
ดูแลสุขอนามัย รักษาความสะอาดในบ้านอยู่เสมอ
ทั้งนี้ หากสงสัยว่าเบบี๋เริ่มมีอาการของโรคปอดอักเสบติดเชื้อ ควรรีบพามาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที