เครื่องดื่มรสหวาน ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวาน นม น้ำอัดลม หรือน้ำผลไม้ต่าง ๆ ล้วนแล้วแต่เป็นของโปรดที่เด็ก ๆ ชอบดื่ม อย่างไรก็ตาม การดื่มเครื่องดื่มที่มีรสหวานมาก ๆ แม้จะมาซึ่งความสุขจากรสชาติที่อร่อยถูกปากแต่ขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนภัยร้ายที่ค่อย ๆ ทำลายสุขภาพของเจ้าตัวซนจนนำไปสู่สารพัดโรค
จากผลการสำรวจพฤติกรรมด้านสุขภาพของประชาชนอายุ 6 ปี ขึ้นไป ปี 2564 เกี่ยวกับการดื่มเครื่องดื่มชง เช่น ชา กาแฟ น้ำหวาน ชานม เป็นต้น โดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบแนวโน้มเด็กไทยติดรสหวาน โดยในเด็กอายุ 6 – 14 ปี ร้อยละ 25 และวัยรุ่นถึงวัยอุดมศึกษา อายุ 15 – 24 ปี ร้อยละ 24.9 ดื่มเครื่องดื่มชง จำนวน 1- 2 วัน ต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผู้ใหญ่อายุ 45 – 59 ปี ร้อยละ 30.9 และอายุ 25 – 44 ปี ร้อยละ 27.4 ดื่มเครื่องดื่มชงทุกวัน
การดื่มเครื่องดื่มชงมักจะเติมน้ำตาลปริมาณมากเพื่อชูรสชาติ หากดื่มเป็นประจำจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ และมีพฤติกรรมติดหวาน ส่วนน้ำตาลเมื่อกินเข้าไปจะเปลี่ยนเป็นพลังงานให้แก่ร่างกาย แต่หากได้รับมากเกินไป จะถูกเปลี่ยนเป็นไขมันสะสมไว้ตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง ซึ่งเป็นสาเหตุ ของโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และเกิดภาวะอ้วนหรือโรคอ้วน รวมถึงภาวะอ้วนลงพุง
ภาวะอ้วนลงพุง เกิดจากการมีไขมันสะสมในช่องท้องปริมาณมากยิ่งมีรอบพุงมากเท่าไร ไขมันยิ่งสะสมในช่องท้องมากเท่านั้น ไขมันที่สะสมนี้ จะแตกตัวเป็นกรดไขมันอิสระเข้าสู่ตับ มีผลให้อินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่ดี โดยโรคอ้วนลงพุง เป็นสาเหตุของโรคแทรกซ้อนจำพวกโรคไม่ติดต่อที่เรียกว่า NCDs (Non-Communicable diseases) เช่น น้ำตาลในเลือดสูง โรคไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ก่อให้เกิดปัญหาทางจิตใจ เกิดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการรักษาการเจ็บป่วย
เคล็ดลับเพื่อให้ลูก ลด ละ เลิก การบริโภคน้ำตาล รวมถึงเครื่องดื่มรสหวาน
1. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรปลูกฝังให้เด็กเลี่ยงการกินหวาน โดยให้ความรู้เรื่องการบริโภค และอันตรายจากการบริโภคน้ำตาล รวมถึงเครื่องดื่มรสหวาน
2. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรเป็นตัวอย่างพฤติกรรมสุขภาพที่ดี เพื่อป้องกันการป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
3. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรส่งเสริมให้เด็กกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ เน้นกินผักและผลไม้รสหวานน้อย ในปริมาณที่เหมาะสม
4. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลให้ลูกดื่ม เครื่องดื่มแบบที่ไม่เติมน้ำตาล หรือเครื่องดื่มหวานน้อยที่เติมน้ำตาลไม่เกิน 5 เปอร์เซ็นต์ หรือชนิดน้ำตาลศูนย์เปอร์เซ็นต์ เหลีกลี่ยงขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม หากน้ำตาลเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าหวานจัด ควรต้องหลีกเลี่ยง โดยอ่านที่ฉลากผลิตภัณฑ์ก่อนบริโภค
5. พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ควรดูแลควบคุมให้เด็กกินน้ำตาลไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน แต่หากเด็ก อยากดื่มน้ำหวาน ช่วงเริ่มต้นควรลดขนาดหรือความถี่การดื่มเครื่องชงรสหวานลง หรือเลือกดื่มน้ำผลไม้สด ไม่เติมน้ำตาลแทน
อย่างไรก็ตาม น้ำเปล่ายังคงเป็นเครื่องดื่มที่ดีที่สุด โดยควรดื่มน้ำอย่างน้อย 6 – 8 แก้วต่อวัน เพื่อส่งเสริมให้ระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ