ประยุกต์ใช้ “ศีล 5” เลี้ยงลูก ช่วยลดพฤติกรรมรุนแรงได้

0

การเลี้ยงดูลูกด้วยความรักและความใส่ใจตั้งแต่เด็กถือเป็นหน้าที่สำคัญของคนเป็นพ่อแม่ เพราะเด็กเปรียบเสมือนผ้าขาวหากซึมซับสิ่งเลวร้ายก็ย่อมแปดเปื้อนหรือเกิดความเคยชิน การปลูกฝังคุณธรรมตั้งแต่ลูกยังเล็กเป็นอีกหนึ่งวิธีการเลี้ยงดูที่จะช่วยลดพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่นได้ค่ะ

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวถึงพฤติกรรมความรุนแรงของเด็กและวัยรุ่นว่า…

โดยทั่วไปจะมีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงดูในวัยเด็ก โดยเฉพาะในช่วงปฐมวัย และวัยเรียน จากการเติบโตมาในลักษณะที่ขาดความรักความอบอุ่นในครอบครัว ถูกทำร้าย ถูกทอดทิ้ง ที่ทำให้เด็กสะสมความรุนแรงและแสดงออกกับสิ่งของ สัตว์เลี้ยง และเพื่อน โดยไม่รู้สึกผิด และพอกพูนจนเป็นวิถีชีวิต เข้าสู่กระบวนการของความรุนแรง กลายเป็นอาชญากรได้ในที่สุด

หากพบความผิดปกติทางพฤติกรรมเช่นนี้ ตั้งแต่วัยเด็กหรือช่วงวัยรุ่นถือเป็นโอกาสที่ยังสามารถแก้ไขได้ทัน ซึ่งแนวทางแก้ปัญหาความรุนแรงที่ดีที่สุด คือ การป้องกัน ด้วยการเลี้ยงลูกด้วยการดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด คอยชี้แนะ สั่งสอน แนะนำลูกตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะในวัยเด็ก ช่วง 3 – 6 ขวบ ซึ่งนับเป็นช่วงเวลาที่สำคัญ ในการปลูกฝังและวางรากฐานทางคุณธรรมจริยธรรมให้กับเด็ก โดยเฉพาะ ศีล 3 ใน 5 ข้อ ได้แก่

  • ศีลข้อที่ 1 ไม่ใช้ความรุนแรง รวมถึงไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต
  • ศีลข้อที่ 2 ไม่เอาของของผู้อื่นหรือไม่ลักขโมย
  • ศีลข้อที่ 4 คือ ไม่พูดปด หรือพูดหยาบ

apply-canon-5-raising-children-to-reduce-violent-behavior

ซึ่ง 3 ข้อนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถปลูกฝังให้กับเด็กๆ ได้ ปัญหาพฤติกรรมก็จะไม่เกิด แต่หากเด็กมีปัญหาด้านสติปัญญา เลี้ยงยาก หรือสมาธิสั้น อาจสอนแล้วไม่เชื่อฟัง แนะนำให้มาพบจิตแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีที่ถูกต้อง ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ หรือน่าอายแต่อย่างใด แสดงถึงความรัก ความเอาใจใส่ลูก ที่สำคัญช่วยป้องกันปัญหาความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

หลายครอบครัวอาจไม่มีเวลาใกล้ชิดลูกมากนัก แต่อย่างน้อยขอให้พ่อแม่สละเวลาสักนิดให้กับพวกเขาในการแสดงความรัก ความเอาใจใส่ที่สามารถทำได้ง่ายๆ เช่น หากเราต้องทำงานบ้าน ก็ชวนลูกๆ มาช่วยทำด้วยและชื่นชมพวกเขา หรืออ่านหนังสือร่วมกับพวกเขา เพื่อกระชับสายสัมพันธ์ในครอบครัวให้แน่นแฟ้น

ไม่ว่าจะกับลูกคนใด ขอให้พ่อแม่ดูแลเอาใจใส่และรักพวกเขาเท่ากัน เพื่อช่วยลดช่องว่างและความน้อยเนื้อต่ำใจที่เกิดขึ้นได้ในเด็กทุกคน เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการใช้ความรุนแรงได้ในอนาคตค่ะ   

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *