พ่อแม่ต้องรู้! เกมแนว MOBA ทำสมองติดเกม

0

“การเล่นเกม” ถือเป็นหนึ่งในกิจกรรมยามว่าง รวมถึงวิธีคลายความเครียดของหลายๆ คน หากเลือกเกมที่เป็นประโยชน์เหมาะสมกับวัย รวมถึงมีวินัยในการเล่นเกมก็คงไม่มีปัญหา แต่หากพ่อแม่ละเลยไม่ใส่ใจ อาจทำให้ลูกมีพฤติกรรมติดเกมได้ นอกจากนี้ลักษณะของเกมก็นำไปสู่แนวโน้มการติดที่ง่ายขึ้นได้ด้วยค่ะ

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ รายงานว่า ใน 2560 นี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 มีนาคม เพียง 3 เดือน พบผู้ป่วยเด็กและวัยรุ่นที่ได้รับการวินิจฉัยว่า…

มีปัญหาพฤติกรรมและอาการเสพติดเกมอยู่ในระดับปานกลางถึงรุนแรงที่ต้องเข้ารับการบำบัดรักษาทางจิตเวชอย่างเร่งด่วนและต่อเนื่อง รวมจำนวน 53 คน ซึ่งเป็นสถิติที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 เท่าตัวในรอบ 3 ปี ร้อยละ 96 เป็นชาย

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้ข้อมูลว่า จิตแพทย์ตรวจพบว่า เด็กกลุ่มนี้จะมีโรคร่วมทางจิตเวช เช่น โรคสมาธิสั้น โรคดื้อต่อต้าน โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า โรคกล้ามเนื้อตากระตุก โรคบกพร่องทักษะการเรียนรู้ ทั้งยังพบปัญหาพฤติกรรมโกหก ขโมยเงิน เล่นพนัน หนีเรียน หนีออกจากบ้าน ซึ่งอาการเสพติดเกมส่วนใหญ่พบในกลุ่มอายุ 14 – 16 ปี แนวโน้มพบอายุน้อยลงเรื่อยๆ น้อยที่สุด คือ 5 ขวบ

parents-must-know-moba-game-effect-to-brain

หลายคนเข้าใจผิดคิดว่า เกมบนสมาร์ทโฟน เกมออนไลน์ การแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ คือ ของเล่นของเด็กทุกวัย และที่น่าวิตกยิ่งไปกว่านั้น ยังเข้าใจผิดว่าการแข่งขันเกมต่อสู้ออนไลน์ที่รู้จักกันว่า “โมบ้า” (Multiple Online Battle Arena : MOBA) เป็นกีฬาทางสมอง หรือที่เรียกว่า อี-สปอร์ต (E-Sports)

แท้จริงแล้ว “โมบ้า” เป็นเกมที่มีลักษณะจำลองการต่อสู้เสมือนจริงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยเล่นกันเป็นทีม ผู้เล่นสามารถควบคุมตัวละครฮีโร่ของตัวเอง พูดคุยสื่อสารกับผู้เล่นอื่น

เกมโมบ้านี้มีอันตรายต่อสมองส่วนหน้า ซึ่งมีผลต่อการควบคุมความคิด อารมณ์ และพฤติกรรม สมองส่วนนี้จะทำงานลดลง ในขณะที่สมองส่วนอยาก (ระบบลิมบิก) จะทำงานเพิ่มขึ้นเมื่อได้รับการกระตุ้นด้วยความสนุกตื่นเต้นจากการต่อสู้และการได้คะแนนหรือชัยชนะในเกมบ่อยหรือซ้ำๆ ต่อเนื่องนานๆ นำไปสู่วงจรสมองติดเกมในที่สุด เป็นการเสพติดทางพฤติกรรมจนเกิดความเคยชิน จึงเลิกยากมาก โดยพฤติกรรมเสพติด จะเริ่มจากความอยากที่จะเล่นเกม ใช้เวลาเล่นนานขึ้น เมื่อไม่ได้เล่นเกมจะหงุดหงิด จนถึงขั้นมีพฤติกรรมก้าวร้าว นำไปสู่ปัญหาอื่นๆ เช่น ผลการเรียนแย่ลง ความสัมพันธ์ในครอบครัวแย่ลง

ฉะนั้น พ่อแม่ควรเอาใจใส่การเล่นเกมหรืออินเตอร์เน็ตของลูกอย่างใกล้ชิด ควรทำความรู้จักกับเกมก่อนตัดสินใจให้ลูกเล่น ต้องมีกฎกติกาในบ้านอย่างชัดเจน ที่สำคัญไม่ควรหยิบยื่นเกมให้เด็กเล่นแทนของเล่น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *