สิ่งที่ครอบครัวต้องรู้ เมื่อต้องดูแล “ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม”

0

“สมองเสื่อม” เป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งความเสี่ยงของการเกิดสมองเสื่อมจะเพิ่มมากขึ้นตามอายุ ความที่ตอนนี้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ไม่แปลกที่หลายครอบครัวจะมีสมาชิกในบ้านเป็นผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม เพื่อให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างสุขกายสบายใจ นี่คือ สิ่งที่ครอบครัวต้องรู้ เมื่อต้องดูแลผู้ป่วยโรคสมองเสื่อม

ภาวะสมองเสื่อม เป็นอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ซึ่งส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยที่มีภาวะสมองเสื่อมต้องประสบกับปัญหาความจำ หลงลืม ไม่สามารถจำสิ่งใหม่ ๆ ได้ มีปัญหาทางด้านอารมณ์ หงุดหงิดง่าย สิ้นหวัง ซึมเศร้า นอนไม่หลับ ไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ มีพฤติกรรมบางอย่างที่ไม่เหมาะสม เช่น ตะโกน ก้าวร้าว เป็นต้น

นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคสมองเสื่อมยังมีอาการทางจิตประสาท เช่น หวาดระแวง หูแว่ว เห็นภาพหลอนตลอดจนไม่สามารถสื่อภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจและไม่เข้าใจการสื่อสารของผู้อื่นเช่นกัน ดังนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยจึงต้องทำความรู้ความเข้าใจกับภาวะของโรคสมองเสื่อม เพื่อจะได้ให้การดูแลและเข้าใจผู้ป่วยมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นลักษณะอาการ ระยะเวลา วิธีการรักษา การพยากรณ์โรค ตลอดจนวิธีการช่วยเหลือดูแลผู้ป่วย เพื่อสามารถรับมือและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างเหมาะสม

ภาวะโรคสมองเสื่อมที่ผู้ป่วยต้องประสบอยู่ การดูแลมักจะตกเป็นภาระของสมาชิกในครอบครัวคนใดคนหนึ่ง อาจทำให้ผู้ดูแลมีความรู้สึกฉุนเฉียว หงุดหงิดง่าย ใช้คำพูดและมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมกับผู้ป่วย ดังนั้น ก่อนที่จะดูแลผู้ป่วยได้เป็นอย่างดี จะต้องดูแลตนเองให้มีสุขภาพที่ดีก่อน ดังนี้

1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ โดยรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ครบหมวดหมู่ มีความหลากหลาย ในปริมาณที่เหมาะสม ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี

2. ป้องกันตนเองจากการบาดเจ็บจากการดูแลผู้ป่วย เช่น ปวดเมื่อยตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการเคลื่อนย้ายหรือยกตัวผู้ป่วยไม่ถูกวิธีและเกินกำลังของตน 

3. นอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอ การดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความอ่อนล้า ความเครียด จนความอดทนลดลงและหงุดหงิดง่าย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการดูแลผู้ป่วยในระยะยาว

4. ทำจิตใจให้สดใส มีอารมณ์สดชื่น สนุกสนาน นอกจากดีต่อสุขภาพจิตของตัวเองแล้ว หากผู้ดูแลอารมณ์ดีจะส่งผลดีต่อผู้ป่วย เมื่อรู้สึกว่าเครียดมาก อาจระบายความเครียดด้วยการพบปะพูดคุยกับผู้อื่น หรือโทรศัพท์ขอคำแนะนำจากแพทย์

5. ควรมีเวลาทำกิจกรรมที่ตนเองชอบ เพื่อความผ่อนคลายความเครียด หากผู้ป่วยสามารถร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ไปพร้อมกันได้ ก็จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์และส่งผลดีต่อทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วย

6. จัดสรรเวลาพักผ่อนให้เพียงพอโดยเปลี่ยนให้ผู้อื่นดูแลผู้ป่วยแทนบ้าง เพราะการดูแลผู้ป่วยอย่างต่อเนื่องนาน ๆ อาจทำให้เกิดความอ่อนล้า ความเครียด หงุดหงิด ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งผู้ดูแลและผู้ป่วยในระยะยาว นอกจากนี้ ควรเตรียมแผนสำรองในกรณีที่ตนเองมีภารกิจส่วนตัวที่จำเป็นหรือเจ็บป่วย

ทั้งนี้ ทุกคนในครอบครัวต้องมีส่วนร่วมในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อม ไม่ทิ้งภาระทั้งหมดให้แก่ผู้ดูแลหลักเพียงคนเดียว เพื่อการดูแลผู้ป่วยให้มีสุขภาพดีและมีความสุข ผู้ดูแลไม่ทุกข์มีสุขภาพกายและใจที่ดี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *