สุขภาพดีฉบับวัยเก๋าด้วยหลัก “กินได้ ตาดี มีแรงเดิน”

0

ประเทศไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี 2565 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุราวร้อยละ 20-30 ไม่แปลกที่ปัจจุบันหลายครอบครัวจะมีสมาชิกในบ้านเป็นผู้สูงอายุ และเพื่อให้ผู้เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของบ้านแข็งแรงไปนาน ๆ หนึ่งในสิ่งที่ต้องใส่ใจและให้ความสำคัญก็คือ การดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในด้านโภชนาการ

จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2562 – 2563 พบว่า ผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไป กินผักและผลไม้ลดลง และกินผักผลไม้เพียงพอ (มากกว่าหรือเท่ากับ 5 ส่วนต่อวัน) เพียงร้อยละ 34.8 รวมทั้งกินเนื้อสัตว์และนมน้อยกว่าความต้องการของร่างกาย ทำให้ได้รับพลังงาน วิตามิน และแร่ธาตุไม่เพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียม ธาตุเหล็ก วิตามินเอ วิตามินบี และวิตามินซี ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีภาวะผอม กล้ามเนื้อลีบ ความแข็งแรงของกระดูกลดลง เพิ่มความเสี่ยงการพลัดตกหกล้ม และหากมีความเสี่ยงของภาวะสมองเสื่อมร่วมด้วย จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ

ผู้สูงอายุเป็นกลุ่มวัยที่เปราะบาง ทั้งทางด้านกายภาพ จิตใจ และสังคม ในส่วนของกายภาพนั้น มีความเสี่ยงเจ็บป่วยได้ง่าย ร่างกายเริ่มมีความเสื่อมถอยของระบบการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น การรับกลิ่นและรสชาติเปลี่ยนไป มีปัญหาสุขภาพช่องปากและฟัน มีภาวะกลืนลำบาก เบื่ออาหาร ความสามารถในการดูดซึมสารอาหารและเคลื่อนไหวลำไส้ลดลง เกิดภาวะซึมเศร้าหรือหลงลืมทำให้ไม่ดูแลโภชนาการตนเอง โรคเรื้อรังต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อความอยากอาหาร เป็นต้น

จากความเสื่อมถอยต่าง ๆ ของร่างกายนี้เอง เป็นสาเหตุทำให้ผู้สูงอายุบริโภคอาหารได้น้อยลง นำไปสู่การเกิดปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ส่งผลให้ผู้สูงอายุได้รับสารอาหารและพลังงานไม่เพียงพอ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมา เช่น การติดเชื้อ ภาวะกระดูกพรุน กล้ามเนื้อลีบลง และแขนขาอ่อนแรงการส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีพฤติกรรมการกินอาหารที่เพียงพอและเหมาะสมตามวัย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่การมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้น

หลัก “กินได้ ตาดี มีแรงเดิน”

1. กินดี โดยควรกินข้าว-แป้งวันละ 7-9 ทัพพี ผักวันละ 4 ทัพพี ผลไม้วันละ 1-3 ส่วน เนื้อสัตว์วันละ 6-8 ช้อน กินข้าว นมวันละ 1-2 แก้ว ลักษณะอาหารควรเป็นแบบอ่อนนุ่ม เคี้ยวง่าย ย่อยง่าย รสไม่จัด และกินอาหารที่ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม ตับ เลือด ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง ผักใบเขียว ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น

2. ตาดี กินอาหารที่ช่วยในการทำงานของจอประสาทตา และชะลอการเกิดโรคจอประสาทตาเสื่อม ได้แก่ ผักผลไม้สีเหลืองส้ม ผักใบเขียว ปลาที่มีกรดไขมันดี ถั่วเมล็ดแห้ง ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เป็นต้น

3. มีแรงเดิน กินอาหารที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและชะลอการเสื่อมของกระดูก ได้แก่ เนื้อปลา เนื้อสัตว์ไม่ติดมัน ไข่ นม ปลาเล็กปลาน้อย เต้าหู้ ผักใบเขียวเข้ม ธัญพืชไม่ขัดสี ถั่วเมล็ดแห้ง เป็นต้น และควรรับประทานอาหารพร้อมกันทั้งครอบครัว เพื่อสร้างความอบอุ่นทางจิตใจให้ผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ผู้สูงอายุควรนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ 7-9 ชั่วโมง มีการเคลื่อนไหวร่างกาย หมั่นฝึกสมอง เข้าสังคม พบปะพูดคุย และตรวจสุขภาพประจำปีอย่างสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ได้ไม่มากก็น้อย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *