จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในช่วงนี้ ทำให้บางพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงบางจังหวัดในภาคอิสานประสบปัญหาฝุ่น PM2.5 มีค่าสูงเกินค่ามาตรฐาน ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพได้ ไม่อยากให้สมาชิกในครอบครัวเสี่ยงสารพัดโรคจากฝุ่นจิ๋ว ป้องกันได้ด้วยการทำความสะอาด 7 จุดซ่อนฝุ่นในบ้าน
ฝุ่น PM2.5 คือ ฝุ่นละอองที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน ขนาดเล็กประมาณ 1 ใน 25 ของเส้นผม มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า ลอยอยู่ในอากาศได้นาน ฝุ่น PM2.5 ประกอบด้วยอนุภาคสารเคมี ที่เกิดจากกระบวนการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง มีแหล่งกำเนิดจากไฟป่า การเผาเศษวัสดุการเกษตรประเภทข้าว ข้าวโพด และอ้อย การคมนาคมขนส่ง โรงงานอุตสาหกรรม การใช้เชื้อเพลิงในครัวเรือน ฯลฯ ฝุ่น PM2.5 อาจมีสารพิษเกาะมาด้วย ทำให้เป็นอันตรายต่อสุขภาพมากขึ้น
ในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูร้อน ค่าฝุ่นละอองในบรรยากาศจะเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัจจัยความกดอากาศสูง ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันกลับในชั้นบรรยากาศ และลมสงบ เป็นอุปสรรคต่อการแพร่กระจายของฝุ่นละออง จึงเกิดการสะสมในพื้นที่ ประกอบกับความแห้งแล้งที่อาจจะก่อให้เกิดไฟป่า และกิจกรรมของแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองที่มีการเปลี่ยนแปลงตามฤดูกาล โดยฤดูกาลในแต่ละภาค มีช่วงเวลาแตกต่างกัน เช่น กรุงเทพฯและปริมณฑล มักเกิดวิกฤตฝุ่นช่วงเดือนพ.ค.-มี.ค.
สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจาก ฝุ่น PM2.5 แบ่งเป็น
1. ผลกระทบระยะสั้น เช่น แสบจมูก ไอ จาม ระคายเคืองผิวหนัง ผื่น คัน เคืองตา แสบตา ตาแดง คลื่นไส้ ปวดศีรษะ
2. ผลกระทบระยะยาว เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ เสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หัวใจวาย ภาวะหลอดเลือดสมองตีบ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง มะเร็งปอด เสี่ยงแท้ง เสี่ยงคลอดก่อนกำหนด
การป้องกันและลดการเพิ่มฝุ่น PM2.5 จึงควรเริ่มตั้งแต่ภายในบ้าน ด้วยการทำความสะอาดเพื่อลดแหล่งสะสมฝุ่น ได้แก่
1. เครื่องปรับอากาศ เช็ดทำความสะอาดแผ่นกรองอากาศ หรือหน้ากากเครื่องปรับอากาศ ด้วยผ้าเปียกบิดหมาด หรือเปิดน้ำเบา ๆ แล้วใช้แปรงขนอ่อนถูเบา ๆ จนสะอาดและนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้งอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง รวมทั้งหมั่นตรวจเช็คสภาพเครื่องปรับอากาศทุก 6 เดือน
2. ผ้าม่าน ปลดผ้าม่านลงจากราง นำผ้าม่านไปแช่น้ำผสมผงซักฟอกประมาณ 30 – 60 นาที เพื่อให้ฝุ่นผงที่ฝังติดลึกในเนื้อผ้าคลายตัวออก ทำความสะอาด และนำไปตากจนแห้ง
3. หลังตู้เสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดทำความสะอาดเป็นประจำ
4. มุ้งลวด ถอดออกมาฉีดน้ำล้าง ใช้แปรงขนอ่อนขัดเบาๆ อาจใช้น้ำยาทำความสะอาดร่วมด้วยล้างให้สะอาด แล้วนำไปผึ่งแดดหรือลมจนแห้งก่อนนำมาติดตั้งใหม่
5. ผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน ซักทำความสะอาดผ้าปูที่นอน ปลอกหมอน แล้วนำไปตากจนแห้งและควรเปลี่ยนเป็นประจำ
6. พรม ควรดูดฝุ่นเป็นประจำ สำหรับคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือหอบหืด ควรเลี่ยงการใช้พรมในบ้าน
7. พัดลม ถอดใบพัดและตะแกรงออกมาฉีดน้ำล้าง และใช้แปรงขนอ่อนขัดซี่ตะแกรง จากนั้นนำชิ้นส่วน ที่ล้างเสร็จแล้วไปเช็ดด้วยผ้าสะอาดให้แห้งสนิท หรือนำผึ่งลมจนแห้งและนำชิ้นส่วนมาประกอบตามเดิม โดยขณะทำความสะอาด ควรสวมถุงมือ สวมหน้ากากปิดจมูกและปากทุกครั้ง
ไม่อยากเสี่ยงรับฝุ่น PM2.5 ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพของทุกคนในครอบครัว อย่าลืมทำความสะอาดบ้านเป็นประจำเพื่อลดแหล่งสะสมฝุ่น อันจะช่วยให้สุขภาพดีห่างไกลโรค