ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่ เด็กเล็กก็เสี่ยงเป็นต้อหินได้!

0

“โรคต้อหิน” เป็นโรคเกี่ยวกับดวงตา มักพบในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้พ่อแม่มือใหม่จึงมองว่าเป็นเรื่องไกลตัว โดยหารู้ไม่ว่าปัจจุบันแม้แต่เด็กเล็กๆ มีความเสี่ยงที่จะเป็นต้อหินได้เช่นกัน ซึ่งความร้ายแรงของโรคนี้ คือ หากปล่อยไว้จนอาการลุกลามกระทั่งมองไม่เห็นแล้ว จะไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

แพทย์หญิงสายจินต์  อิสีประดิฐ  ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับโรคต้อหินสรุปใจความสำคัญได้ว่า

“ต้อหิน” เป็นโรคที่สัมพันธ์กับความดันในลูกตาสูงขึ้น จนประสาทตาซึ่งเป็นตัวนำการมองเห็นไปสู่สมองถูกทำลาย ทำให้สูญเสียลานสายตา

young-children-are-at-risk-of-glaucoma

ในระยะเริ่มต้นจะไม่มีอาการผิดปกติใดๆ แต่เมื่อโรคลุกลามมากขึ้น การมองเห็นจะเริ่มเปลี่ยนไปทีละน้อย บางคนอาจไม่รู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง คือการมองจะยังคงเห็นวัตถุข้างหน้าได้ชัดเจนดี แต่จะเริ่มมองวัตถุรอบๆ ไม่เห็น ลานสายตาแคบลงเหมือนมองผ่านกล้องส่องทางไกลอยู่ตลอดเวลา และจะแคบลงเรื่อยๆ จนสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

ต้อหินที่พบในเด็กสามารถพบได้ตั้งแต่แรกเกิด เนื่องจากพัฒนาการที่ผิดปกติตั้งแต่ในครรภ์ สังเกตความผิดปกติได้จากทารกมีอาการน้ำตาไหล ไม่สู้แสง ตาดำโต เป็นฝ้าขาว หรืออาจมีตาดำเล็กกว่าปกติ และต้อหินที่เกิดจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเกี่ยวกับดวงตา เช่น การใช้ยาหยอดตาเป็นเวลานาน เด็กที่เป็นภูมิแพ้  มีอาการตาแดงมาก คันตา ผู้ปกครองซื้อยาหยอดตาใช้เองโดยไม่ปรึกษาจักษุแพทย์และใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานอาจทำให้ความดันตาสูงขึ้น ขั้วประสาทตาถูกทำลายจนสูญเสียการมองเห็นในที่สุด

นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กที่มีปานแดง ปานดำบนใบหน้า หากมีขนาดใหญ่และมีพื้นที่พาดผ่านดวงตา จัดว่าอยู่ในกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากเด็กที่มีปานแดง เส้นเลือดบนใบหน้าเกิดความผิดปกติมีเนื้องอกมาอุดตันทำให้น้ำหล่อเลี้ยงในดวงตาไม่สามารถระบายออกได้ ความดันในลูกตาจึงสูงขึ้น

ส่วนปานดำเกิดจากมีเม็ดสีดำเข้ามาอยู่ที่ผิวหนัง อุดตันท่อระบายน้ำในตา จึงทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น ทั้งนี้ เด็กที่เป็นปานดำพบว่าอาจเป็นต้อหินเมื่อเป็นผู้ใหญ่ แต่เด็กที่เป็นปานแดงอาจเป็นต้อหินได้ตั้งแต่ยังเล็ก สำหรับวิธีการรักษาโรคต้อหินในเด็กอาจรักษาด้วยยา หรือผ่าตัด โดยจักษุแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสม

ดังนั้น พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติต่างๆ ที่อาจเกิดกับดวงตาของเบบี๋ เช่น ไม่มอง ไม่จับวัตถุสิ่งของ เหมือนมองไม่เห็น ควรพาลูกน้อยไปพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างทันท่วงทีค่ะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *