พ่อแม่ต้องรู้ : ความเชื่อกับความจริงเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก

0

การอบรมเลี้ยงดูที่ดีที่ถูกที่ควรของพ่อแม่ตั้งแต่ลูกอยู่ในวัยเด็ก ย่อมทำให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดีและประสบความสำเร็จได้ในอนาคต แต่บ่อยครั้งที่พ่อแม่ขาดความรู้ความเข้าใจหรือมีความเชื่อผิด ๆ ในการเลี้ยงลูก ส่งผลให้ลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ขาดวุฒิภาวะทางจิตใจ อารมณ์ หรือสติปัญญา

หนังสือ คู่มือความรู้เพื่อการพัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ในเด็กอายุ 3-11 ปี สำหรับพ่อแม่ผู้ปกครอง โดยกรมสุขภาพจิต ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเชื่อกับความจริงเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก สรุปความได้ดังนี้

ความเชื่อ : การให้สิ่งของทุกอย่างที่ลูกต้องการ คือ การแสดงออกว่าพ่อแม่รักลูก ลูกอยากได้อะไรก็ให้ทุกอย่าง หรือการให้อะไรลูกเกินความจำเป็น หรือการให้ลูกจับจ่ายใช้สอยมากเท่าที่ต้องการ

ความจริง : การให้ความรักทางจิตใจ เช่น การโอบกอด คำพูดที่ชื่นชม ให้กำลังใจ จะเป็นสิ่งที่มีคุณค่า และเด็กจะรับรู้ถึงความรักของพ่อแม่มากกว่าการได้รับสิ่งของ เด็กที่พ่อแม่ให้แต่ข้าวของเงินทอง จะเป็นเด็กเอาแต่ใจตัวเอง ไม่รู้จักการเป็นผู้ให้ และเด็กยังควบคุมความอยากไม่ได้ สร้างค่านิยมการใช้จ่ายฟุ่มเฟือย

ความเชื่อ : คนที่เก่งและประสบความสำเร็จในชีวิต คือ คนที่เรียนดี พ่อแม่จึงให้ความสำคัญและความคาดหวังลูกเรื่องการเรียนมาก ให้ลูกเรียนอย่างเดียว โดยไม่ต้องรับผิดชอบเรื่องอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานบ้านหรือกิจกรรมผ่อนคลายอื่น ๆ

ความจริง : คนที่เก่งและประสบความสำเร็จในชีวิต จะต้องมีความสามารถที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการคิด การวางแผน การแก้ไขปัญหา ทั้งยังต้องมีทักษะพื้นฐาน เช่น การช่วยเหลือตนเอง และการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย การที่เด็กมุ่งการเรียนอย่างเดียว จะสูญเสียโอกาสที่จะพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคมอื่น ๆ ดังกล่าว และยังทำให้เป็นเด็กเคร่งเครียด ไม่สามารถปรับตัวได้เมื่อพบความผิดหวังในการเรียน การงาน

ความเชื่อ : การให้ลูกเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทีวี อินเตอร์เน็ต การเล่นเกมคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ จะทำให้เด็กใช้เวลาว่างได้ดี มีความเพลิดเพลิน ไม่รบกวนพ่อแม่ และทำให้เป็นเด็กฉลาด รู้เท่าทันโลก

ความจริง : สื่อต่าง ๆ มีทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี แต่เด็กไม่สามารถแยกแยะได้ว่าอะไรดีอะไรไม่ดี และเด็กยังไม่สามารถควบคุมตนเองได้ เด็กจึงมักเลือกรับแต่สื่อที่ไม่เป็นประโยชน์ ผลคือทำให้เป็นเด็กเจ้าสำราญ คิดแต่เรื่องไร้สาระ และยังขาดโอกาสที่จะทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ที่พ่อแม่จะต้องเลือกสื่อที่เหมาะสมให้ลูก ว่าอะไรดูได้ ดูไม่ได้ กำหนดเวลาที่เหมาะสมและให้อยู่ในสายตาพ่อแม่ที่จะชี้แนะสิ่งที่เหมาะสมกับลูก

ความเชื่อ : เด็กที่ยังเล็ก ไม่จำเป็นต้องสอนอะไรมาก เพราะโตขึ้นเด็กจะเรียนรู้และคิดอะไรได้ด้วยตนเองว่าอะไรควรอะไรไม่ควร พ่อแม่จึงมักปล่อยปละละเลย ไม่ว่ากล่าว หรือจัดการอะไรเมื่อลูกเล็กทำสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เช่น เมื่อลูกเล็กใช้คำพูดหยาบคายกับผู้อื่น พ่อแม่ก็หัวเราะขบขัน คิดว่าเป็นเรื่องน่ารักน่าเอ็นดู และยินยอมให้เด็กทำเช่นนั้นต่อไป

ความจริง : ช่วงวัยเด็กเล็ก เป็นเวลาของการเรียนรู้ทุกสิ่งที่อยู่รอบตัว การเรียนรู้เหล่านี้เป็นรากฐานของการเรียนรู้ในวัยต่อมา การเรียนรู้ทักษะทางอารมณ์และสังคมที่สำคัญ เช่น การควบคุมอารมณ์ การรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก การมีระเบียบวินัย ฯลฯ สิ่งเหล่านี้หากไม่ได้รับการปลูกฝัง จะทำให้เด็กมีนิสัยเสียและยากที่จะแก้ไขในตอนโต

การเลี้ยงดูให้ลูกช่วยเหลือตนเองและพึ่งพิงตัวเองได้ จะทำให้เด็กเป็นอิสระ มีความภาคภูมิใจในตนเอง เด็กที่ถูกเลี้ยงดูอย่างสุขสบาย จะไม่เรียนรู้ที่จะช่วยตัวเองและรับผิดชอบตัวเอง จึงขาดความอดทน แก้ปัญหาไม่ได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *