Shaken baby syndrome เขย่าเด็กเล่น ๆ อันตรายถึงตาย

0

ไม่ว่าด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หลายครั้งที่พ่อแม่หรือคนใกล้ชิดกระทำการอันเป็นอันตรายต่อเด็กทารก โดยลืมนึกไปว่าร่างกายของเบบี๋มีความบอบบางและยังเติบโตไม่เต็มที่ จึงไม่แข็งแรงนัก การเขย่าเด็กอย่างรุนแรง มีโอกาสที่จะทำให้เบบี๋เป็น Shaken Baby Syndrome ซึ่งอันตรายถึงขั้นที่ทำให้เด็กน้อยเสียชีวิตได้

Shaken Baby Syndrome คือ ภาวะหรือโรคที่มักพบในเด็กที่อายุน้อยกว่า 1 ปี อันเป็นผลจากการเขย่าเด็กอย่างรุนแรง ซึ่งเกิดจากอารมณ์โกรธหงุดหงิด โมโห หรือรู้เท่าไม่ถึงการณ์ของพ่อแม่หรือผู้ที่เลี้ยงทารก มักจะเกิดอันตรายกับเด็กเล็กได้ โดยเฉพาะเด็กแบเบาะที่ยังมีกล้ามเนื้อคอไม่แข็งแรง ไม่สามารถพยุงศีรษะตนเองได้ รวมทั้งสมองมีความอ่อน ซึ่งถ้ามีการเขย่า หรือกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง อาจจะทำให้เนื้อสมองไปกระทบกับกะโหลกศีรษะ

สิ่งที่อาจเกิดขึ้น คือ สมองของทารกได้รับการกระทบกระเทือน เส้นเลือดรอบเนื้อสมองฉีกขาด เกิดเลือดออกในสมอง เนื่องจากเส้นเลือดในสมองของเด็กเล็ก ยังไม่แข็งแรง มีโอกาสที่จะฉีกขาดมากกว่าผู้ใหญ่ โดยเฉพาะเด็กทารกวัย 3-8 เดือน และอาจจะลุกลามไปถึงขั้นเส้นเลือดในจอประสาทตาขาดได้ด้วย ผลที่อาจเกิดตามมา ได้แก่ ตาบอดหรือเกิดการทำลายดวงตา พัฒนาการช้าลง ชัก เป็นอัมพาต ปัญญาอ่อน เสียชีวิต

โดยส่วนใหญ่เด็กที่ถูกเขย่า จนเป็นโรค Shaken Baby Syndrome นั้น มักจะไม่ค่อยทิ้งร่องรอยภายนอก จึงไม่ได้รับการรักษาปล่อยทิ้งไว้เพราะความไม่รู้ จึงทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิต ตาบอด เป็นลมชัก หรือถ้ารอดก็มักมีปัญหาด้านการเรียนรู้ หรือสติปัญญาต่อไป ซึ่งจากสถิติพบว่า เด็กที่มีอาการ Shaken Baby Syndrome 1 ใน 3 สามารถรักษาให้หายเป็นปกติได้ ในขณะที่อีก 1 ใน 3 กลายเป็นเด็กพิการไปตลอดชีวิต เช่น ไร้สมรรถภาพในการเรียนรู้ ตาบอด หรือเป็นอัมพาตในสมอง และอีก 1 ใน 3 อาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

หากรู้สึกเด็กผิดปกติหลังจากเขย่าเด็กอย่างรุนแรง สิ่งที่ต้องทำ คือ นำเด็กไปรับการตรวจจากแพทย์ทันที และแจ้งเรื่องเด็กถูกเขย่าอย่างรุนแรงแก่แพทย์ อย่าปิดบังโดยเด็ดขาด เพราะถ้าไม่มีประวัตินี้แพทย์อาจจะไม่ได้นึกถึง อาจวินิจฉัยได้ล่าช้า ทำให้การรักษาไม่ทันท่วงที และเกิดอันตรายรุนแรงได้ อาการผิดปกติเริ่มแรกของอันตรายจากการเขย่าเด็ก ได้แก่ อาการอาเจียน หรือหายใจลำบาก ซึ่งมักคล้ายอาการของโรคอื่น ๆ ที่ไม่รุนแรง เช่น ภาวะปวดท้อง 3 เดือน (โคลิก) กินนมมากเกินไป หรือให้นมไม่ถูกวิธี นอกจากนี้อาจมีอาการเซื่องซึม ไม่ยอมดูดนม ร้องไห้งอแงตลอด ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก

วิธีป้องกัน Shaken Baby Syndrome

1. ไม่ควรอุ้มเด็กขึ้นโดยจับใต้รักแร้แล้วแกว่งหรือเขย่า หรือเหวี่ยงจนเด็กหัวสั่นคลอนอย่างรุนแรง

2. ไม่ควรเล่นกับเด็กโดยการจับตัวลูกโยนขึ้นสูง แล้วให้หล่นลงมาค่อยรับ

3. ถ้าให้เด็กนั่งบนตักหรือไหล่ ต้องระวังไม่ให้เด็กล้มตัวลงไปด้านหลังอย่างกะทันหัน

4. เวลาอุ้มเด็กต้องใช้มือประคองศีรษะเด็กเสมอ

ถ้าสมองเด็กได้รับอันตรายจากการเขย่า แล้วไม่รีบรักษา อาการจะแย่ลง และเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ ดังนั้น การได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีและรวดเร็ว จะสามารถช่วยชีวิตเด็ก รวมทั้งลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *