“กิจกรรมทางกายสำหรับเบบี๋หรือเด็กปฐมวัย” มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งต่อการเสริมสร้างพัฒนาการให้สมวัย
เพราะเป็นช่วงวัยแห่งการจดจำพฤติกรรม รวมถึงเป็นการสร้างนิสัยที่จะติดตัวไปตลอดชีวิต ทั้งนี้ ในแต่ละช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกน้อยมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมตามช่วงอายุนะคะ
หนังสือ ข้อแนะนำการส่งเสริมกิจกรรมทางกายการลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง และการนอนหลับ สำหรับเด็กปฐมวัย โดยกรมอนามัย ระบุถึง แนวทางการมีกิจกรรมทางกายตามช่วงอายุ ดังนี้
วัยแรกเกิดถึง 1 ปี
- เด็กวัยทารกนี้ กล้ามเนื้อยังไม่พร้อมสำหรับการวิ่ง หรือกระโดด ควรเน้นให้มีการเคลื่อนไหวอย่างเหมาะสมตามช่วงพัฒนาการตามวัยอย่างเพียงพอ
- เน้นกิจกรรรมบนพื้นเป็นหลัก (floor-based play) เช่น การนอนคว่ำชันคอ (tummy time) การเอื้อมหยิบจับ/การดึง/ปัด ลูกบอลหรือของเล่น การหมุนตัว คลาน การนั่ง การยืน เดิน การเล่นกับผู้ปกครอง
วัย 1-3 ปี
- เด็กวัยนี้กล้ามเนื้อเริ่มมีการพัฒนาการเพิ่มมากขึ้นสามารถเดิน วิ่ง กระโดด ได้ ควรปล่อยให้เด็กเล่นตามความชอบ เน้นความสนุกสนาน มีกิจกรรมการเล่นที่หลากหลาย
- เน้นกิจกรรมการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เช่น คลาน ยืน เดิน วิ่ง กระโดด ขว้าง ปีนป่าย เป็นต้น
- ไม่เน้นให้เล่นในรูปแบบการฝึกฝนหรือเล่นกีฬาที่มีกติกา หรือเน้นผลแพ้ชนะ
- ตัวอย่างกิจกรรมการเล่นที่ใช้อุปกรณ์ เช่น เล่นเครื่องเด็กเล่น เตะฟุตบอลเข้าโกล กระโดดเชือก โยนบอลใส่ตะกร้า ปั่นจักรยาน ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน รดน้ำต้นไม้ กิจกรรมการละเล่นพื้นบ้าน เล่นเครื่องเรือนในบ้าน การห้อยโหน เดินข้ามท่อนไม้เล็กๆ เป็นต้น ส่วนกิจกรรมการเล่นที่ไม่ใช้อุปกรณ์ เช่น วิ่งไล่จับ วิ่งซ่อนหา เต้นประกอบเพลง เดินเล่น ช่วยพ่อแม่ยกของว่ายน้ำ กระโดดอยู่กับที่ เดินขึ้นบันได เป็นต้น
วัย 3-5 ปี
- เด็กวัยนี้จะเริ่มเคลื่อนไหวในท่าทางที่ยากมากขึ้นได้
- กิจกรรมการเล่นที่ใช้อุปกรณ์ เช่น เตะเลี้ยงลูกฟุตบอลไป-กลับ กระโดดแตะสิ่งของที่อยู่ข้างบน กระโดดเชือก ห้อยโหน ปั่นจักรยาน กระโดดข้ามสิ่งกีดขวาง
- กิจกรรมการเล่นที่ไม่ใช้อุปกรณ์ เช่น ว่ายน้ำ กระโดดขาเดียว เดินขึ้นที่สูง ขึ้น-ลงบันได วิ่งเปี้ยว วิ่งเก็บของ
ที่ลืมไม่ได้คือ ขณะให้เบบี๋ทำกิจกรรมทางกาย คุณพ่อคุณแม่ควรดูแลเจ้าตัวเล็กอย่างใกล้ชิดนะคะ ที่สำคัญอุปกรณ์และสถานที่ในการทำกิจกรรมต้องมีความปลอดภัยค่ะ