รู้จัก ภาวะ MIS-C ในเด็ก หนึ่งในผลพวงจากโควิด-19

0

จากการระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลให้มีเด็กอายุ 0-18 ปีติดเชื้อโควิดเพิ่มขึ้น และคาดว่าจะทำให้มีการพบผู้ป่วย MIS-C (มิสซี) เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากเป็นอาการที่พบในเด็กหลังติดเชื้อโควิด19 ว่าแต่ ภาวะ MIS-C ในเด็ก เกิดจากสาเหตุใด อาการเป็นอย่างไร อันตรายแค่ไหน เรามีคำตอบ!

MIS-C (มิสซี) เป็นกลุ่มอาการอุบัติใหม่ที่พบในเด็กซึ่งร่างกายมีการอักเสบหลายระบบหลังจากมีการติดเชื้อ SARS- CoV-2 สาเหตุเชื่อว่าเกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันในร่างกายต่อเชื้อไวรัสนี้ที่มากเกินไป ทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายหลายระบบตามมา ภาวะนี้พบได้ในเด็กทุกกลุ่มอายุ อุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 0.02 ของผู้ป่วยเด็กที่เป็น COVID-19

ผู้ป่วย MIS-C  จะมีอาการไข้ ผื่น ตาแดง อาเจียน ปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจมีภาวะช็อคที่เกิดจากการอักเสบที่หัวใจ หรือหลอดเลือดหัวใจโป่งพอง ซึ่งเป็นอันตรายถึงเสียชีวิตได้ ร่วมกับการตรวจพบเชื้อหรือภูมิคุ้มกันหรือประวัติสัมผัสเชื้อ SARS- CoV-2 การอักเสบของหัวใจพบได้ร้อยละ 35-100 อาจมีอาการรุนแรงจนต้องรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ในประเทศไทยพบผู้ป่วย MIS-C แล้วประมาณ 30-40 ราย ภาวะนี้ควรได้รับการรักษาด้วยอิมมูโนโกลบูลินและยากดภูมิคุ้มกัน

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคสหรัฐฯ (ซีดีซี) แนะนำให้รีบพาลูกหลานไปพบแพทย์ทันที หากเด็กแสดงอาการที่เป็นสัญญาณเตือน ได้แก่ หายใจลำบากมาก, มีอาการเจ็บ หรือบีบคั้นที่หน้าอกต่อเนื่องไม่หายไป, มีอาการสับสน, มีอาการตื่นยาก หรือไม่ยอมหลับ, ริมฝีปาก หรือเนื้อใต้เล็บเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงิน หรือสีซีด (แล้วแต่โทนสีผิว), มีอาการปวดท้องรุนแรง

ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี มีการพบผู้ป่วย MIS-C จำนวน 8 ราย อายุตั้งแต่ 9 เดือน ถึง 11 ปี อายุเฉลี่ย 6 ปี โดยผู้ป่วย 6 ราย มีประวัติการเป็น COVID-19 มาก่อนภายใน 4 – 6 สัปดาห์ และมีอาการของโรค COVID-19 น้อยหรือไม่มีอาการ ส่วนผู้ป่วยอีก 2 ราย ไม่พบประวัติการสัมผัสเชื้อที่ชัดเจน ผู้ป่วยทุกรายมีไข้ร่วมกับผื่น ส่วนใหญ่พบอาการทางระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่น อาเจียน ถ่ายเหลว

ในเด็กเล็กมักมีอาการตาแดง ปากแดง มือเท้าบวม คล้ายโรคคาวาซากิ การตรวจเลือดจะพบค่าการอักเสบที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ ผู้ป่วย 4 ราย (ร้อยละ 50) มีภาวะช็อคจากการที่หัวใจบีบตัวได้ลดลง จำเป็นต้องให้การรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง 3 ราย มีการตอบสนองต่อการรักษาดี การทำงานของหัวใจกลับมาทำงานเป็นปกติ ระยะเวลาที่รักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตขึ้นกับความรุนแรงและการตอบสนองต่อการรักษา ทั้งนี้ การวินิจฉัยและการรักษาที่ทันท่วงทีจะช่วยชีวิตผู้ป่วยโรคนี้ได้

ดังนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครองอย่าพึ่งตื่นตระหนก ให้ติดตามข่าวสารอย่างใกล้ชิดต่อไป หมั่นสังเกตลูก หากพบว่าเบบี๋มีอาการเข้าข่ายภาวะ MIS-C ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพื่อพิจารณาให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *