พัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสารของเด็กอายุ 0 – 3 ปี

0

ภาษาประกอบด้วยความเข้าใจภาษาและการแสดงออกทางภาษา เป็นวิธีการสื่อให้คนรอบตัวเข้าใจความต้องการของตนด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การพูดออกเสียง ภาษาท่าทาง และภาษากาย เป็นต้น ภาษาและการพูดสื่อสารนับเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการสำคัญที่พ่อแม่ต้องส่งเสริมเบบี๋ตั้งแต่วัยแรกเกิด

ข้อมูลจากหนังสือ คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี โดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย  ระบุว่า พัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสารของลูกจะเกิดได้ดีจะต้องมีสิ่งต่อไปนี้ คือ ลูกจะต้องได้ยินเสียงก่อนที่จะหัดพูดได้ เรียนรู้คำศัพท์ต่าง ๆ มีความต้องการที่จะสื่อสารโต้ตอบกับพ่อแม่ และจำเป็นต้องมีพ่อแม่ที่ชอบพูดคุยกับลูก รวมทั้งมีอวัยวะที่ใช้ในการเปล่งเสียงปกติ

ทารกจนถึงอายุ 2 เดือนจะเริ่มเล่นเสียงในลำคอซึ่งมักเป็นเสียงร้องไห้ เรอ ไอ หรือหาว หลังจากนั้นเมื่ออายุ 2-3 เดือนไปแล้วจึงเริ่มยิ้มทักพ่อแม่ ส่งเสียงอ้อแอ้ หรือ อู/อา ซึ่งเป็นเสียงสระ พยายามพูดสื่อสารกับพ่อแม่ พอเมื่ออายุ 4 เดือนลูกจะเงียบฟังเมื่อพ่อแม่คุยด้วย และพร้อมทั้งจะส่งเสียงโต้ตอบ เมื่อพ่อแม่หยุดพูด หลังจากนั้นเมื่ออายุ 5-6 เดือน ลูกจะเริ่มเล่นเป่าน้ำลาย เล่นเสียงบริเวณริมฝีปาก ซึ่งประกอบด้วยเสียงพยัญชนะ และเสียงสระ เช่น “บา” “ดา” “กา” “มา”

ดังนั้น หากพ่อแม่เล่นเสียงกับลูกบ่อย ๆ ลูกจะทำเสียงหลายพยางค์ เช่น “ดาดาดา” “บาบาบา” เมื่ออายุ 8 เดือน จนสามารถเรียกพ่อแม่ได้เมื่ออายุ 10-12 เดือน ลูกจะพูดคำที่มีความหมายได้ 1 คำ เมื่ออายุ 12-15 เดือน ซึ่งลูกจะค่อย ๆ เรียนรู้คำศัพท์เพิ่มขึ้นอย่างมาก จนมีคำศัพท์อย่างน้อยประมาณ 50 คำ เมื่ออายุ 2 ปี และจะเริ่มนำคำศัพท์ที่มีความหมายแตกต่างกัน มาต่อกันได้ เช่น ขอนม กินข้าว ไปเที่ยว เป็นต้น

เด็กจะเข้าใจภาษาก่อนที่จะพูดได้เหมาะสม ตั้งแต่แรกเกิดจะเริ่มตอบสนองต่อเสียงได้ และหันเมื่อได้ยินเสียงของพ่อแม่เมื่ออายุ 4 เดือน หันตามเสียงเรียกชื่อเมื่ออายุ 6 เดือน จนทำตามคำสั่งที่มีท่าทางประกอบได้เมื่ออายุ 12 เดือน เช่น ลูกยื่นของให้พ่อแม่ เมื่อพ่อแม่แบมือเพื่อขอของจากลูก อายุ 18 เดือน ลูกจะชี้รูปภาพตามคำบอก หรือชี้อวัยวะได้ 1-2 ส่วน จนชี้รูปภาพตามคำบอก และอวัยวะได้หลายส่วนเมื่ออายุ 2 ปี ซึ่งจะเห็นได้ว่าพัฒนาการด้านภาษาและการพูดสื่อสารนั้นจะต้องพัฒนาไปตามลำดับขั้นตอนตามที่ระบุไว้ข้างต้น

วิธีสังเกตว่าพัฒนาการด้านภาษาล่าช้าหรือผิดปกติ เช่น ลูกไม่ตอบสนองต่อเสียงตั้งแต่แรกเกิดหรือสงสัยว่าลูกจะไม่ได้ยิน ยังไม่พูดเล่นเสียงบริเวณริมฝีปาก ที่อายุ 10 เดือน ไม่พูดคำที่มีความหมายเลย ที่อายุ 15-18 เดือน ยังไม่พูด 2 คำต่อกัน ที่อายุ 2 ปี หรือมีพัฒนาการด้านภาษาถดถอยไม่ว่าอายุใดก็ตาม หรือพัฒนาการด้านภาษาไม่เป็นไปตามลำดับขั้นตอนที่ต่อเนื่องกันตามปกติ เช่น ลูกอายุ 2 ปี สามารถท่องจำ ก-ข-ค A-B-C นับ 1-20 หรือ พูดชื่อยี่ห้อรถยนต์ต่าง ๆ ได้ แต่หลีกเลี่ยงการมองหน้าสบตา ไม่บอกความต้องการของตนเอง ไม่ทำตามคำสั่งง่าย ๆ ไม่เรียกพ่อแม่ หรือพูดคำที่ไม่มีความหมายหรือมีความหมายอยู่บ้างแต่มีลักษณะจำกัด ปราศจากความตั้งใจในการติดต่อสื่อสารกับคนอื่น อาจเป็นการพูดตามสิ่งที่เคยได้ยินมา ซึ่งผิดปกติสำหรับพัฒนาการด้านภาษาและสังคมในเด็กอายุ 2 ปี เนื่องจากมีความเข้าใจภาษา และการแสดงออกทางภาษาโดยใช้ภาษาท่าทางจำกัด มีลักษณะผิดปกติ ไม่เหมาะสมตามวัย

ลักษณะของพัฒนาการที่เบี่ยงเบนอย่างผิดปกติ โดยเฉพาะในด้านภาษาและสังคมนี้มักพบได้บ่อยในเด็กโรคออทิสติก ดังนั้น พ่อแม่ควรพาเบบี๋ไปปรึกษากุมารแพทย์เพื่อได้รับการตรวจประเมินอย่างละเอียดต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *