วิธีเล่น “จ๊ะเอ๋” เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเบบี๋ตามช่วงวัย

0

“จ๊ะเอ๋” ถือเป็นหนึ่งในการเล่นที่สำคัญสำหรับเด็ก เนื่องจากช่วยให้เจ้าตัวเล็กเกิดการเรียนรู้ ช่วยส่งเสริมพัฒนาการรอบด้านให้แก่เด็ก ทั้งยังเป็นการถักทอสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้น และเพื่อผลลัพธ์ที่ดีต่อพัฒนาการของเบบี๋ นี่คือ วิธีเล่น “จ๊ะเอ๋” เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเบบี๋ตามช่วงวัย

นิตยสารสร้างสุข ฉบับที่ 196 โดย สสส. ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจโดยกล่าวถึง วิธีเล่น “จ๊ะเอ๋” เพื่อกระตุ้นพัฒนาการเบบี๋ตามช่วงวัย สรุปความได้ ดังนี้

จ๊ะเอ๋กับลูกอายุน้อยกว่า 6 เดือน

-เลือกเวลาเมื่อเด็กพร้อมเล่น ลูกกำลังสบายตัว ไม่ใช่กำลังหิว ง่วงนอน ร้อน เหงื่อออก หรือก้นเปียกแฉะ

-เล่นด้วยความสนุก ระวังเรื่องการทำเสียงดัง หรือการทำหน้าตา ท่าทางที่น่ากลัวเกินไปจนลูกตกใจกลัวมากกว่าสนุก ให้เริ่มต้นจากการสบตา จ้องหน้า ดึงความสนใจให้ลูกมองตาม เช่น เล่นแลบลิ้น ทำเสียงตลก ๆ แปลก ๆ เป็นต้น เพื่อให้ลูกค่อย ๆ จดจำใบหน้าของพ่อกับแม่ให้ได้ก่อน

-เล่นจ๊ะเอ๋ซ้ำ ๆ ช่วยให้เด็กเริ่มเรียนรู้และจดจำได้ว่า ใบหน้าแม่อยู่แค่หลังฝ่ามือ ไม่ได้หายไปไหน ซึ่งการเล่นจ๊ะเอ๋ซ้ำไปซ้ำมายังเป็นการกระตุ้นให้พัฒนาทักษะหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นสมอง อารมณ์ กล้ามเนื้อมัดเล็ก หรือการใช้ภาษาอีกด้วย

จ๊ะเอ๋กับลูกอายุมากกว่า 6 เดือน

-เล่นแบบช้า ๆ และฝึกการรอคอย โดยพูดคำว่า “จ๊ะ…” ซ้ำหลายครั้ง ก่อนจะพูดคำว่า “เอ๋” แล้วเปิดฝ่ามือ เช่น “จ๊ะ ๆ ๆ เอ๋” ถ้าเด็กรอจนแม่เปิดมือ ไม่พยายามคว้ามือหรือดึงผ้าที่ปิดหน้าแม่เพื่อเปิด ก็แสดงว่าลูกเริ่มรู้จักการรอคอยได้ 3 วินาทีแล้ว

-เริ่มสอนภาษา บอกว่าเราเป็นใครเมื่อเปิดหน้า เช่น แม่เล่น พอเปิดหน้าพูดว่า “แม่” เมื่อพ่อเล่น พอเปิดหน้าให้พูดว่า “พ่อ”

-เล่นซ่อนของง่าย ๆ ใช้ผ้าปิดของเล่นแล้วให้ลูกเปิดออกดูเอง

จ๊ะเอ๋กับลูกวัยเตาะแตะ (อายุ 1-2 ขวบ)

-ให้รอคอยนานขึ้น ก่อนที่จะเปิดหน้า หรือโผล่มาจากที่แอบอยู่

-เล่นเกมที่ลูกสามารถคาดเดา เช่น เกมเปิดผ้าหาของเล่น การคาดเดาผลลัพธ์ ช่วยส่งเสริมความรู้สึกภาคภูมิใจเมื่อตัวเองทำสำเร็จ เป็นไปตามที่คิดไว้

-เล่นซ่อนหาของที่ยากหรือไกลตัวขึ้นอีกนิด ความที่เด็กวัยนี้เริ่มเดินและวิ่งเล่นได้ สามารถใช้ภาษาสื่อสารกับคนอื่นได้ในระดับหนึ่ง และเป็นวัยที่ชอบออกสำรวจโลกด้วยตนเอง รวมถึงการเข้าสังคม การเล่นจ๊ะเอ๋แบบเดิมอาจไม่ค่อยสนุกแล้ว จึงควรพัฒนาไปสู่การซ่อนของ หรือซ่อนหา ให้ลูกได้ออกค้นหา ซึ่งต้องอยู่ในบริเวณของเขตที่พอเห็นได้ ไม่ซ่อนไกลตา และไม่เป็นพื้นที่อันตราย โดยเมื่อลูกหาเจอให้แสดงความชื่นชมดีใจกระตุ้นด้วยคำพูดเชิงบวก สิ่งนี้จะช่วยกระตุ้นให้ลูกรู้สึกตื่นเต้นและนำไปสู่การพยายามค้นหาคำตอบในเรื่องอื่นด้วยตัวเอง พร้อมเผชิญกับปัญหาหรือความท้าทายที่จะยากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อโตขึ้น

-ใช้ผ้าหรือกระดาษปิดภาพต่าง ๆ เพื่อให้ลูกเปิดดู โดยขณะเปิดให้พ่อแม่พูดคำว่า “จ๊ะเอ๋” ไปด้วย อาจจะใช้รูปหน้าคนที่แสดงความรู้สึกต่าง ๆ กัน เช่น ใบหน้ายิ้ม โกรธ เสียใจ เศร้า ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้ลูกเรียนรู้ใบหน้าที่แสดงอารมณ์แบบต่าง ๆ หรือภาพสัตว์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้เด็กได้รู้จักชื่อสัตว์ต่าง ๆ เป็นต้น

ว่าแล้วก็อย่ามัวแต่ก้มหน้าเล่นมือถือหรือเลี้ยงลูกด้วยสิ่งบันเทิงหน้าจอ มาเสริมพัฒนาการให้เบบี๋ด้วยการเล่นจ๊ะเอ๋แบบพร้อมหน้าพ่อแม่ลูกกันเถอะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *