โรคมือ เท้า ปาก มักพบในเด็กทารกและเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี และพบได้ประปรายในเด็กโต โดยเฉพาะเด็กที่อยู่รวมกัน เช่น ในโรงเรียนอนุบาล สถานรับเลี้ยงเด็ก ศูนย์เด็กเล็ก โรคนี้เกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปี และมักมีการระบาดช่วงฤดูฝน โดยทั่วไปผู้ป่วยโรคนี้มักหายได้เอง แต่ในกรณีที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุของโรคมือ เท้า ปาก เกิดจากเชื้อไวรัสกลุ่มเอนเตอโรไวรัส มีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง กรณีที่มีสมองอักเสบร่วมด้วย มักเกิดจากเชื้อเอนเตอโรไวรัส 71 หรือ อีวี 71 มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ โดยเชื้อไวรัสจะแพร่ผ่านทางระบบทางเดินอาหาร (เข้าสู่ปาก) และการหายใจ สามารถติดต่อโดยตรงจากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย น้ำตุ่มพอง และแผลอุจจาระของผู้ป่วย รวมถึงการไอจามใส่กัน สามารถติดต่อโดยอ้อมจากการสัมผัสผ่านของเล่น มือผู้เลี้ยงดู น้ำและอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อ โรคมีระยะฟักตัวประมาณ 1 สัปดาห์ จึงสามารถติดต่อกันได้โดยที่ยังไม่แสดงอาการ
เด็กที่ป่วยเป็นโรคมือ เท้า ปาก ส่วนใหญ่มักจะเริ่มจากอาการไข้ ซึ่งอาจจะไข้ต่ำหรือไข้สูงก็ได้ อ่อนเพลีย มีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้ เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม มีตุ่มพองใสแดงที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจพบที่ก้นด้วย ผื่นมักจะไม่คันและหายเป็นปกติ ภายใน 7 – 10 วัน โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะรักษาตามอาการ
โดยปกติมักไม่รุนแรงและหายได้เองหากไม่มีอาการแทรกซ้อน ผู้ปกครองจึงควรดูแลอย่างใกล้ชิด
โรคมือเท้าปากโดยทั่วไปไม่น่ากลัว สามารถหายป่วยได้เอง ส่วนน้อยที่มีอาการรุนแรง มักเกิดจากเชื้ออีวี 71 มีอาการสมองอักเสบร่วมกับระบบหายใจและระบบไหลเวียนเลือดล้มเหลว เสียชีวิตได้อย่างรวดเร็ว เด็กที่มีอาการรุนแรงมักมีไข้สูง ซึม อ่อนแรง มือสั่น เดินเซ ไม่ยอมรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ อาเจียนบ่อย หายใจหอบ และชัก หากพบอาการเหล่านี้ ควรรีบพาไปพบแพทย์ เพราะอาจเกิดภาวะสมองอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หรือน้ำท่วมปอด ซึ่งรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
การดูแลเบื้องต้นพยายามให้จิบน้ำบ่อย ๆ อย่าให้ขาดน้ำ ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย หากรับประทานอาหารไม่ได้ เพราะมีอาการเจ็บในปากมาก สามารถให้รับประทานอาหารที่เย็น เช่น ไอศกรีม โยเกิร์ต และรับประทานน้ำตามทุกครั้ง ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นในสามวัน แต่ถ้ารับประทานไม่ได้ ปัสสาวะออกน้อย อ่อนเพลียซึมมากให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาล
แม้โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่พ่อ แม่ ผู้ปกครองสามารถดูแลและป้องกันลูกน้อยได้ ดังนี้
1. เช็ดตัวและให้ยาลดไข้ รวมถึงยาอื่น ๆ ตามที่แพทย์แนะนำ
2. ดูแลให้เด็กล้างมือด้วยสบู่ทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร หรือหลังสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย หรือภายหลังการขับถ่าย หรือเปลี่ยนผ้าอ้อม ส่วนพ่อ แม่ ผู้ดูแลเด็กก็ต้องใส่ใจเรื่องความสะอาดเช่นกันโดยล้างมือให้สะอาดบ่อย ๆ
3. หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ ผ้าขนหนู
4. หมั่นทำความสะอาดของเล่นและสภาพแวดล้อมทุกวัน การทำความสะอาดโดยใช้สบู่ ผงซักฟอกหรือน้ำยาทำความสะอาดทั่วไปสามารถกำจัดเชื้อได้ ควรระมัดระวังความสะอาดของน้ำ อาหารและสิ่งของที่เด็กอาจเอาเข้าปาก หลักการรักษาโรคมือ เท้า ปากเป็นการรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด ดื่มน้ำเกลือแร่เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ ส่วนเบบี๋ที่มีอาการรุนแรงหรือภาวะแทรกซ้อนจำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิดจากแพทย์