รู้จัก “กล้ามเนื้อมัดเล็ก” พร้อมเช็คพัฒนาการของเบบี๋

0

กล้ามเนื้อมัดเล็ก คือ กล้ามเนื้อตั้งแต่บริเวณข้อมือ บริเวณฝ่ามือ ตลอดจนถึงนิ้วแต่ละนิ้ว กล้ามเนื้อส่วนนี้ใช้ในการออกแรงขณะนวดหรือปั้น แรงกด การจับและบังคับทิศทางของดินสอ การออกแรงในการเล่นเครื่องดนตรี เรียกว่าเป็นพื้นฐานของการที่เด็กจะพัฒนาการ การเขียน การทำงานในชีวิตประจำวัน และการช่วยเหลือตัวเอง

ข้อมูลจาก คู่มือสำหรับพ่อแม่ เพื่อเผยแพร่ความรู้ด้านการดูแลและพัฒนาเด็ก ตอน วัยเด็กเล็ก 0-3 ปี โดย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า กล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาได้ต้องอาศัยการมองเห็น เด็กใช้กล้ามเนื้อมือสำหรับการช่วยเหลือตนเองและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยทำงานประสานกับสายตา พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กจะเริ่มจากการเคลื่อนไหวของลูกตา ตัวอย่างเช่น

เด็กอายุ 1 เดือน สามารถจ้องมองวัตถุที่ห่างจากหน้าประมาณ 8 นิ้วได้ จะค่อย ๆ มองตามวัตถุผ่านแนวกึ่งกลางตัวที่อายุ 2 เดือน มองตามในแนวราบ 180 องศา และคว้าจับกรุ๋งกริ๋งได้ที่อายุ 4 เดือน เอื้อมมือหยิบของที่อายุ 6 เดือน ถือก้อนไม้มือละก้อนที่อายุ 8 เดือน ถือก้อนไม้ 2 ก้อนเคาะกันที่อายุ 10 เดือน หยิบก้อนไม้ใส่ถ้วยที่อายุ 12 เดือน ต่อก้อนไม้ 2 ก้อนในแนวตั้ง และขีดเส้นยุ่ง ๆ ที่อายุ 18 เดือน ต่อก้อนไม้ 6 ก้อนในแนวตั้ง หรือ 4 ก้อนในแนวนอนเป็นรถไฟได้ที่อายุ 2 ปี

กล้ามเนื้อมัดเล็กจะพัฒนาจากส่วนต้นของลำตัวแขนขาไปสู่ส่วนปลาย เช่น นำก้อนไหมพรมมาไว้ที่ระดับสายตา โดยห่างจากใบหน้าสัก 8-12 นิ้ว ที่อายุก่อน 4 เดือน ลูกจะมองตามการเคลื่อนไหวของก้อนไหมพรมในแนวราบได้ แต่ยังไม่สามารถคว้าจับไหมพรมได้ แต่ที่พออายุ 4-6 เดือนถ้าวางก้อนไหมพรมไว้บนโต๊ะ เด็กจะพยายามยืดตัว ขยับหัวไหล่ และเอื้อมมือไปยังทิศทางที่ไหมพรมวางอยู่ได้ เป็นต้น นอกจากนี้ กล้ามเนื้อมัดเล็กยังค่อย ๆ พัฒนาจากการทำงานที่หยาบไปสู่งานที่ละเอียดมากขึ้นตามลำดับ เช่น อายุ 6-7 เดือน จะหยิบก้อนไม้โดยอุ้งมือทำงานร่วมกับนิ้วหัวแม่มือ อายุ 7-9 เดือนจะหยิบก้อนไม้โดยใช้บริเวณของนิ้วหัวแม่มือและนิ้วมืออื่น ๆ ช่วยในการหยิบจับได้ เป็นต้น

การหยิบของชิ้นเล็กก็จะมีการพัฒนาอย่างเป็นลำดับขั้นตอนเช่นเดียวกัน ได้แก่ อายุ 6-7 เดือน จะพยายามเขี่ยของชิ้นเล็ก ๆ เข้ามาอยู่ในฝ่ามือ แต่เมื่อลูกอายุ 9-12 เดือน จะหยิบเม็ดยาด้วยปลายนิ้วหัวแม่มือ และปลายนิ้วชี้ได้ เป็นต้น (ซึ่งพ่อแม่จำเป็นต้องป้องกันอุบัติเหตุที่เกิดจากการหยิบของที่มีขนาดเล็กเข้าปากจนอาจทำให้ลูกเกิดการสำลักได้ในช่วงวัยนี้)

ทั้งนี้การพัฒนาของกล้ามเนื้อมัดเล็กจากส่วนต้นไปสู่ส่วนปลายได้อย่างละเอียดมากขึ้น จะทำให้ลูกสามารถสำรวจสิ่งต่างๆ ด้วยการใช้นิ้วมือได้อย่างแม่นยำ จนกระทั่งสามารถทดแทนการนำนิ้วมือเข้าปากได้ นอกจากนี้พัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กยังมีความสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านสติปัญญาที่ไม่ใช้ทักษะด้านภาษาของลูกด้วย

วิธีสังเกตว่าพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อมัดเล็กล่าช้าผิดปกติ เช่น ลูกอายุ 3 เดือน แล้วยังกำมือตลอดเวลา อาจมีความผิดปกติทางระบบประสาท หรือลูกอายุ 6 เดือน แล้ว ยังไม่คว้าของหรือเอื้อมหยิบของ อาจบ่งถึงความผิดปกติของกล้ามเนื้อมัดเล็ก สายตา และ/หรือมีสติปัญญาบกพร่อง

หากสงสัยว่าเบบี๋มีพัฒนาการที่ผิดปกติไม่เหมาะสมตามวัย พ่อแม่ควรรีบพาลูกไปพบกุมารแพทย์เพื่อหาสาเหตุ และวางแผนการดูแลรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *