“เบาจืดในเด็ก” คืออะไร? พร้อมวิธีสังเกตอาการ

0

“เบาจืด” คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถเก็บรักษาสมดุลของน้ำในร่างกายได้ จึงทำให้มีอาการถ่ายปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะออกครั้งละมากๆ ร่วมกับมีอาการกระหายน้ำมาก ที่น่ากลัว คือ เบาจืดเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ว่าแล้วมาสังเกตอาการของเบบี๋ เพื่อรับมือกับโรคเบาจืดในเด็กกันค่ะ

diabetes-insipidus

โรคเบาจืดเป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกวัย แม้พบได้น้อยมาก โดย 1 แสนคน จะพบผู้ป่วยเพียง 3-4 รายเท่านั้น แต่โรคเบาจืดเป็นโรคที่ไม่มียารักษาให้หายขาด ต้องกินยาไปตลอดชีวิต สาเหตุหลักของโรคโดยส่วนใหญ่แล้วจะเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนแอนติไดยูเรติก (Antidiuretic Hormone) ซึ่งมีหน้าที่ช่วยให้ไตจัดการกับสมดุลน้ำในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเมื่อแรกเกิดมักไม่ค่อยแสดงอาการของโรคเบาจืด แต่จะแสดงอาการเมื่ออายุประมาณ 1-3 ขวบ หรือพบในบางรายเมื่อเป็นผู้ใหญ่แล้ว

อาการของโรคเบาจืดที่อาจจะสังเกตเห็นได้ในผู้ป่วยวัยทารกหรือเด็กเล็ก ได้แก่ ปัสสาวะบ่อย และปัสสาวะครั้งละมากๆ ปัสสาวะมักไม่มีสี หรือกลิ่น , ร้องไห้ผิดปกติ, หงุดหงิดง่าย, มีอัตราการเติบโตช้ากว่าที่ควรจะเป็น, ร่างกายมีอุณหภูมิสูง, น้ำหนักลดผิดปกติ

เมื่อร่างกายเสียน้ำไปมาก ผลที่ตามมาคือ ผู้ป่วยจะกระหายน้ำบ่อย หากดื่มน้ำทดแทนส่วนที่เสียไปไม่ทันหรือไม่เพียงพอ อาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง ทำให้ซึม ไม่รู้สึกตัว และช็อก หรือหมดสติ เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย นอกจากนี้อาจพบอาการปวดบริเวณเอว ท้องน้อย เนื่องจากการคั่งของปัสสาวะบริเวณท่อไต กรวยไต กระเพาะปัสสาวะ ส่งผลให้อวัยวะดังกล่าวโตขึ้น

วิธีการรักษาและปฏิบัติตัวที่สำคัญของผู้ที่เป็นโรคเบาจืด

  1. ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ ถ้าอยู่ในที่อากาศร้อนจัด ร่างกายต้องสูญเสียน้ำไปทางผิวหนังมาก หรือคนไข้ที่มีอาการท้องเดิน ท้องเสีย ต้องพยายามทดแทนโดยการดื่มน้ำเปล่าให้มาก
  2. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสเค็มจัด เพราะอาหารที่เค็มจัดจะมีเกลือมาก ร่างกายจะขับเกลือออกมาทางไตและออกมากับปัสสาวะ เป็นสาเหตุให้ร่างกายถูกดึงน้ำออกไป จึงทำให้ขาดน้ำมากขึ้น
  3. ใช้ยาตามแพทย์สั่งให้ครบและตรงเวลาสม่ำเสมอ ห้ามหยุดยาหรืองดยาไปเอง เพราะโรคนี้จำเป็นต้องใช้ยาควบคุมเสมอ ต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

ฉะนั้น พ่อแม่ต้องคอยสังเกตอาการของเบบี๋ให้ดี หากสงสัยว่าเป็นเบาจืดต้องรีบพาไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและหาสาเหตุของโรค เพื่อจะได้รับการรักษาที่ถูกต้องนะคะ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *