รับมืออย่างถูกวิธี…เมื่อเบบี๋ร้องกลั้นจนหน้าเขียวหน้าซีด

0

เพราะเบบี๋ยังไม่สามารถสื่อสารด้วยการพูดได้ การร้องไห้จึงถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่เด็กทารกใช้สื่อสาร โดยการร้องไห้ของเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกันออกไปและเป็นส่วนหนึ่งของพัฒนาการในการเติบโตของทารก อย่างไรก็ตาม หนึ่งในรูปแบบการร้องไห้ของเด็กน้อยที่พ่อแม่ต้องใส่ใจเป็นพิเศษคือ การร้องกลั้น

การร้องกลั้น เป็นภาวะที่เด็กมีอาการกลั้นหายใจขณะหายใจออกเป็นชั่วขณะหนึ่ง ทำให้ออกซิเจนเข้าไปหล่อเลี้ยงในสมองไม่เพียงพอ จนทำให้หน้าเขียวและเกือบเสียชีวิตได้ ซึ่งทางการแพทย์เรียกว่า breath holding spells อาการนี้จะเกิดขึ้นกับเด็กแรกเกิดถึงเด็กโต เมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้แล้ว โดยเฉพาะเวลาถูกขัดใจ พบได้ตั้งแต่ช่วงเด็กเล็ก 6 เดือน – 6 ปีอายุที่พบมากประมาณ 2 ปี หรือเมื่อเด็กเริ่มรู้จักแสดงอารมณ์ได้ สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่เชื่อว่าเกิดจากสมองส่วนควบคุมระบบประสาทอัตโนมัติยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ โดยอาการร้องกลั้น มี 2 ลักษณะ คือ

1. การร้องกลั้นชนิดเขียว (Cyanotic breath holding spell) เป็นการร้องกลั้นชนิดที่พบได้ประมาณร้อยละ 54-62 ของการร้องกลั้นทั้งหมด มักสัมพันธ์กับการโกรธ หงุดหงิด ไม่ได้ดั่งใจ ตามด้วยการร้องไห้รุนแรงช่วงสั้น ๆ ไม่เกิน 30 วินาที และหยุดหรือกลั้นหายใจในช่วงสิ้นสุดการหายใจออก นำไปสู่ภาวะเขียวจากการขาดออกซิเจน ซึ่งสามารถสังเกตได้จากสีริมฝีปากที่คล้ำลง หากการหยุดหายใจยังดำเนินต่อ อาจนำไปสู่การหมดสติและมีอาการชักตามมา เด็กส่วนใหญ่มักกลับมาเป็นปกติภายใน 1 นาที (เด็กสามารถปรับตัวให้หายใจเข้าได้)

2. การร้องกลั้นชนิดซีด (Pallid breath holding spell) เป็นการร้องกลั้นชนิดที่พบได้ประมาณร้อยละ 19-22 มักสัมพันธ์กับภาวะซีดหรือขาดธาตุเหล็ก มีปัจจัยกระตุ้นจากความกลัว ตกใจ หรือเจ็บปวดจากอุบัติเหตุเล็กน้อย อาการเริ่มด้วยการร้องสั้น ๆ หรือบางรายอาจไม่ร้องเลย ตามด้วยนิ่ง ตัวอ่อน หน้าซีด และหมดสติ ในรายที่อาการรุนแรงอาจมีอาการกระตุก และปัสสาวะอุจจาระราดได้ อาจหัวใจเต้นช้าลงหรือหยุดเต้น แต่ในรายที่ไม่รุนแรงส่วนใหญ่มักกลับมาเป็นปกติภายใน 1 นาที

เมื่อเด็กมีอาการร้องกลั้น พ่อ แม่ ผู้เลี้ยงดู ควรปฏิบัติดังนี้

1. อย่าปล่อยให้เด็กโกรธจนสุด ควรพยายามหาวิธีเบี่ยงเบนความสนใจของเด็กไปหาสิ่งอื่น

2. จับเด็กนอนหงายบนเตียงหรือพื้นราบ เพื่อให้เลือดได้ไปเลี้ยงสมองได้มากที่สุด แต่ถ้ามีอาการเป็นอยู่นานเกิน 1 นาที ให้จับเด็กนอนตะแคงข้าง เพื่อป้องกันการสำลัก สำรวจดูว่ามีอะไรในปากเด็กหรือไม่ หากมีให้รีบหยิบออกเพราะอาจทำให้เด็กสำลักหรือติดคอจนเกิดอันตรายได้ ไม่ควรอุ้มเขย่าตัวแรง ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บต่อกระดูกคอหรือสมองได้

3. พ่อ แม่ ผู้เลี้ยงดู ควรตั้งสติ อย่าแสดงอาการตื่นตกใจหรือกังวลใจเวลาที่เด็กร้องกลั้น เพราะอาจทำให้เด็กตกใจมากขึ้น

4. หากมีอาการร้องกลั้นชนิดเขียว การวางผ้าชุบน้ำเย็นบนหน้าเด็ก (ไม่ปิดทางเดินหายใจ) 15 นาที อาจทำให้อาการดีขึ้น

5. หลังจากเด็กหายใจปกติแล้ว ให้อุ้มกอด พูดคุยปกติเหมือนปกติ ไม่ควรแสดงอาการตระหนกตกใจให้เด็กเห็น

6. ภาวะนี้มักพบในครอบครัวที่เลี้ยงดูเด็กแบบค่อนข้างตามใจ ดังนั้น ไม่ควรตามใจเด็กเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะการรู้สึกขัดใจ เพราะเด็กสามารถเรียนรู้ว่าหากต้องการสิ่งใดการร้องไห้กลั้นจะเป็นเงื่อนไขในการได้ในสิ่งที่ต้องการ

ทั้งนี้ เมื่อเด็กมีอาการร้องไห้แล้วกลั้นในครั้งแรก คุณพ่อคุณแม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจดูว่าไม่มีความผิดปกติอย่างอื่นซ่อนเร้น เช่น ภาวะเลือดจาง โรคหัวใจ หรือ โรคลมชัก ในเด็กที่มีโรคหัวใจหรือโรคระบบหลอดเลือด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *