อย่าปล่อยผ่าน..เบบี๋กัดเล็บ-ดูดนิ้ว เสี่ยงทำฟันผิดรูป

0

การกัดเล็บ ดูดนิ้วมือของเด็ก เป็นพฤติกรรมที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญและหมั่นใส่ใจ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้อาจทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากและฟันของลูกมีผลต่อการเรียงตัวของฟัน ทำให้ฟันหน้ายื่นหรือฟันไม่สบกัน ฟันสึกมากกว่าปกติ ฟันห่างหรือมีการกลืนผิดปกติ จากการใช้ลิ้นดันฟันหน้า

การแสดงออกด้วยการดูดนิ้ว อมมือ หรือกัดเล็บ อาจเกิดจากภาวะที่เด็กมีความกังวล จึงทำเพื่อผ่อนคลายอารมณ์ของตัวเอง และบางพฤติกรรมอาจทำให้กลายเป็นนิสัยติดตัวลูกไปจนโต นอกจากนี้ ยังส่งผลเสียต่อบุคลิกภาพและเสี่ยงต่อการติดเชื้อจากแบคทีเรีย ไวรัสหรือเชื้อโรคที่ติดมากับซอกเล็บหรือนิ้วมือ

หากพ่อ แม่ ผู้ปกครองพบเห็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ของลูก เช่น ดูดนิ้วมือ กัดเล็บ กัดริมฝีปาก หรือใช้ลิ้นดุนฟัน ควรฝึกและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของลูก เพราะอาจส่งผลต่อการเรียงตัวของฟัน เสี่ยงต่อการเกิดฟันสึก ฟันห่าง ฟันไม่สบกัน และในระยะยาว อาจทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการบดเคี้ยวได้ โดยหากพบว่าลูกมีฟันที่ล้มเอียง ผิดรูปทรง ควรได้รับการรักษาทางทันตกรรมเพื่อแก้ไขความผิดปกติที่เกิดขึ้นการดูแลสุขภาพช่องปาก

ควรดูแลเอาใจใส่สุขภาพช่องปากของเบบี๋ตั้งแต่แรกเกิด ทั้งนี้ เมื่อฟันขึ้นเด็กอาจมีอาการเจ็บปวดบริเวณเหงือกได้ เด็กแต่ละคนจะมีการขึ้นของฟันในเวลาที่ต่างกันตามธรรมชาติ การดูแลสุขภาพช่องปากให้ดีตั้งแต่ระยะฟันน้ำนม จะช่วยให้ฟันแท้ขึ้นในตำแหน่งที่ถูกต้อง ไม่มีปัญหาการบดเคี้ยว สามารถออกเสียงได้ชัดเจน  ซึ่งหากเกิดปัญหา หรือมีการสูญเสียฟันน้ำนมไปก่อนกำหนด อาจทำให้ฟันแท้ซ้อนเก หรือขึ้นไม่ได้จนกลายเป็นฟันฝังได้ 

เคล็ดลับเพื่อสุขภาพช่องปากที่ดีของเบบี๋

1. ควรพาเบบี๋มาพบทันตแพทย์ตั้งแต่อายุ 6 เดือน หรือเมื่อมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรก เพื่อรับคำแนะนำในการแปรงฟัน การดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกวิธี การปรับพฤติกรรมการบริโภคเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฟันผุ และตรวจสุขภาพฟัน รวมถึงฝึกลูกให้เป็นนิสัย เพราะการใส่ใจดูแลสุขภาพช่องปากและฟันอย่างถูกวิธีตั้งแต่วัยเด็กจะช่วยส่งผลต่อสุขภาพในช่องปากที่ดีในอนาคตเมื่อเข้าสู่วัยทำงานหรือวัยผู้สูงอายุอีกด้วย

2. ควรให้อาหารลูกตามคำแนะนำของกุมารแพทย์ อาหารส่งเสริมสุขภาพมักดีต่อฟันและสุขภาพโดยรวมของลูก การรับประทานอาหารที่สมดุล หลากหลาย และมีสารอาหารครบถ้วนนั้นช่วยในการสร้างฟันของลูก แต่การได้รับอาหารแปรรูปและน้ำตาลมากเกินความจำเป็นมักส่งผลให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน หรือฟันผุ

3. ควรเริ่มแปรงฟันทันทีเมื่อลูกมีฟันน้ำนมขึ้นซี่แรก อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเลือกแปรงสีฟันที่มีขนแปรงอ่อนนุ่ม หัวแปรงต้องมีขนาดพอดีกับช่องปากเด็กและใช้ยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์1,000 ppm ในปริมาณที่เหมาะสมกับอายุเด็ก ทั้งนี้ ทารกสามารถมีฟันผุและเหงือกอักเสบได้ หากพ่อแม่ดูแลสุขภาพช่องปากได้ไม่ดี มักเกิดจากการที่ไม่ได้แปรงฟันก่อนนอน หากพบว่าเบบี๋ฟันผุควรรีบพาไปพบแพทย์ เนื่องจากฟันผุจะลุกลามอย่างรวดเร็ว ทำให้เด็กปวดฟันอย่างรุนแรง

ที่สำคัญควรพาลูกน้อยไปพบทันตแพทย์เพื่อตรวจฟันเป็นประจำทุก 3-6 เดือน หรือรีบไปพบแพทย์ทันทีที่พบความผิดปกติบริเวณช่องปากและฟัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *