4 ข้อควรรู้เมื่อให้ลูกกินนมแม่ระหว่างตั้งครรภ์

0

โดยปกติหญิงให้นมบุตรจะมีระดับฮอร์โมนโปรแลคตินสูง ซึ่งฮอร์โมนนี้จะยับยั้งการตกไข่และเป็นกลไกในการเว้นช่วงระยะห่างในการมีบุตรตามธรรมชาติ กลไกนี้จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 6 เดือน หลังจากนั้น หญิงให้นมบุตรก็อาจตั้งครรภ์ได้อีก คำถามคือ การให้ลูกกินนมแม่ระหว่างตั้งครรภ์ปลอดภัยหรือไม่?

การให้ลูกกินนมแม่ระหว่างตั้งครรภ์นั้นโดยทั่วไปถือว่าปลอดภัย ไม่เพิ่มโอกาสของการแท้งบุตรในครรภ์หรือการคลอดก่อนกำหนด และพบว่าไม่เกี่ยวข้องกับภาวะโตช้าในครรภ์ แต่มีข้อพึงระวังและข้อห้ามบางประการ ดังนี้

1. ภาวะโภชนาการของมารดาต้องสมบูรณ์

เนื่องจากทั้งการตั้งครรภ์และการให้นมบุตรนั้นเป็นภาวะที่ร่างกายของมารดาจะต้องการพลังงานและสารอาหารต่างๆ มากขึ้นกว่าปกติ หากจะให้นมบุตรไปด้วยในขณะที่กำลังตั้งครรภ์ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารและดูแลภาวะโภชนาการให้ได้รับพลังงานและสารอาหารที่เพียงพอ โดยเฉพาะแคลเซียมและธาตุเหล็ก มารดาควรดื่มน้ำในปริมาณมากพอ รับประทานอาหารที่มีพลังงานสูง โดยเน้นอาหารประเภทโปรตีน กินผักและผลไม้สดที่มีความหลากหลาย เพิ่มปริมาณแคลเซียมจากอาหารประเภทปลาตัวเล็กและเต้าหู้ และรับประทานอาหารที่มีธาตุเหล็กสูง เช่น ไข่แดง ตับ หรือรับประทานธาตุเหล็กเสริมในรูปแบบของยาให้เพียงพอ

2. อาการเจ็บหัวนมและเต้านม

เนื่องจากอาการเจ็บหัวนมและเต้านมนั้น พบได้บ่อยในหญิงตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสแรก การให้ลูกดูดนมในช่วงนี้ จึงอาจมีความเจ็บปวดและทรมานมาก ในหญิงตั้งครรภ์บางรายมีอาการแพ้ท้องมาก อาจรู้สึกอ่อนเพลียมากจนไม่สามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ต่อไปได้ ในกรณีนี้มารดาอาจตัดสินใจหยุดการให้ลูกกินนม ซึ่งเป็นหน้าที่ของแพทย์ในการรักษาประคับประกองเท่าที่จะทำได้ ส่วนการจะให้ลูกกินนมต่อหรือไม่นั้นควรเคารพต่อการตัดสินใจของมารดา จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าในมารดาที่ตั้งใจให้ลูกกินนมแม่ต่อระหว่างตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่ล้มเลิกความตั้งใจเนื่องจากอาการเจ็บหัวนมและเต้านม

3. ปริมาณน้ำนมอาจเปลี่ยนแปลงไประหว่างตั้งครรภ์

แม้โดยทั่วไปแล้วคุณค่าและสารอาหารในนมแม้ระหว่างตั้งครรภ์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่ฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไปในระหว่างตั้งครรภ์นั้นอาจทำให้น้ำนมมีปริมาณลดลงได้ โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ซึ่งปริมาณที่ลดน้อยลงนี้อาจเป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกคนโตหย่านมด้วยตนเองเนื่องจากไม่อยากดูดนมแม่ต่อได้

4. ในกรณีที่ครรภ์นั้นมีความเสี่ยงต่อการคลอดกำหนดหรือมีภาวะรกเกาะต่ำควรลดการให้นมแม่

เนื่องจากการที่หัวนมถูกกระตุ้นระหว่างให้นมนั้นอาจทำให้เกิดการหลั่งของฮอร์โมนออกซิโทซิน (Oxytocin) ซี่งจะกระตุ้นให้มีการหดรัดตัวของมดลูก ดังนั้น ในหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติคลอดก่อนกำหนดมาก่อนหรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น เช่น มีภาวะปากมดลูกสั้นหรือเคยมีการผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน ควรงดการถูกกระตุ้นที่หัวนม หญิงตั้งครรภ์ที่มีภาวะรกเกาะต่ำหากเกิดการหดรัดตัวของมดลูกอาจกระตุ้นให้เกิดการตกเลือดอย่างรุนแรงได้ ดังนั้นจึงควรงดการถูกกระตุ้นที่หัวนมด้วยเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม กรณีที่เป็นการตั้งครรภ์ปกติ หากระหว่างที่ให้นมอยู่เกิดอาการท้องแข็งสม่ำเสมอ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด คุณแม่ท้องควรรีบไปพบแพทย์ทันที

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *