4 ประเด็นว่าด้วยโรคมะเร็งเต้านม จริงหรือเท็จ รู้ไว้ไม่พลาด

0

มะเร็งเต้านม ได้ชื่อว่าเป็นโรคมะเร็งที่พบมากที่สุดในผู้หญิงไทย ที่น่ากลัวคือเมื่อเป็นแล้ว โอกาสที่จะรักษาให้หายขาดนั้นเป็นไปได้น้อย และเพราะไม่อยากเสี่ยงเป็นมะเร็งหรืออยากหายจากโรค หลายคนจึงเชื่อและปฏิบัติตามข้อมูลโรคมะเร็งเต้านมที่แชร์ต่อๆ มาในโลกโซเชียลโดยไม่มีการตรวจสอบ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้

ประเด็นที่ 1 : การทำแมมโมแกรมเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง : การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสีชนิดหนึ่ง ใช้สำหรับตรวจเต้านมโดยเฉพาะ ซึ่งวิธีนี้เป็นวิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพ สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งเต้านมได้ โดยการตรวจแมมโมแกรมแนะนำให้ตรวจในผู้หญิงที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือมีความเสี่ยง ทั้งนี้ แม้ว่าการตรวจแมมโมแกรมจะทำให้ได้รับรังสี แต่ก็อยู่ในปริมาณที่น้อยมากๆ จึงมีความปลอดภัย ไม่ได้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม แต่ควรหลีกเลี่ยงการตรวจแมมโมแกรมในช่วงสัปดาห์ก่อนที่มีประจำเดือนเพื่อลดความเจ็บ สำหรับหญิงตั้งครรภ์หรือมีความเป็นไปได้ในการตั้งครรภ์ควรมีการแจ้งแพทย์หรือเจ้าหน้าที่ฉายรังสีก่อนทุกครั้ง เพื่อความปลอดภัยของทารกในครรภ์

ประเด็นที่ 2 : ผู้หญิงย้อมสีผมบ่อย เสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม มากขึ้น 60%

ข้อเท็จจริง : ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่ายาย้อมสีผมเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ได้ ซึ่งยาย้อมสีผมแบ่งออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ แบบชั่วคราว แบบกึ่งถาวร และแบบถาวร โดยชนิดที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือแบบถาวรซึ่งยาย้อมผมชนิดนี้จะแทรกซึมเข้าไปในเส้นผม และคงอยู่อย่างถาวรจนกว่าผมใหม่จะงอกขึ้นมา โดยสารเคมีหลักที่พบในผลิตภัณฑ์ย้อมสีผมแบบถาวรประกอบไปด้วยสารไฮโดรเจนเปอร์ออกไซด์ สารพาราฟินีลินไดอะมีน ตะกั่วอะซิเตท แอมโมเนีย ฯลฯ การใช้ยาย้อมผมเป็นประจำอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น มีอาการระคายเคืองบริเวณหนังศีรษะ หน้าผาก หู ดวงตา และคอ มีผื่นคันหรือลมพิษทั่วร่างกาย หากมีอาการแพ้รุนแรงจะทำให้หายใจลำบากและหมดสติได้

ประเด็นที่ 3 : การใช้โรลออนทำให้เป็นมะเร็งเต้านม

ข้อเท็จจริง : ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัดว่าการใช้โรลออนระงับกลิ่นกาย (Deodorant) และระงับเหงื่อ (Antiperspirant) ส่งผลให้เกิดมะเร็งเต้านม โดยผลิตภัณฑ์ระงับกลิ่นกายใช้ลดการเกิดกลิ่นตัวซึ่งมีสาเหตุมาจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งมีส่วนประกอบ เช่น สารลดเหงื่อ กรดเบนโซอิค สารฆ่าเชื้อแบคทีเรีย และน้ำหอม ส่วนผลิตภัณฑ์ระงับเหงื่อเป็นสารที่ใช้ลดการหลั่งเหงื่อทำให้ผิวหนัง และรูขุมขนบริเวณที่ทาอุดตัน สารนี้มักจะมีส่วนประกอบของโลหะ เช่น อลูมิเนียมคลอไฮเดรท ซึ่งมีความกังวลว่าสารนี้อาจตกค้างที่ผิวหนังบริเวณใต้วงแขนส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยที่ยืนยันแน่ชัดว่าการใช้สารระงับเหงื่อ/สารระงับกลิ่นกายมีความเชื่อมโยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

ประเด็นที่ 4 : พริก กระเทียม พริกไทย ช่วยฆ่าเซลล์มะเร็งที่ไวต่อฮอร์โมนมะเร็งเต้านมได้

ข้อเท็จจริง : พริก กระเทียม พริกไทย เป็นสมุนไพรที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบในตำรับยาไทย โดยสมุนไพรทั้ง 3 ชนิด ล้วนอุดมไปด้วยสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ซึ่งในพริกมีวิตามินซี กระเทียมมีสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญ ได้แก่ ซิลิเนียม อัลลิซิน ฟลาโวนอยด์ ส่วนพริกไทยมีสารฟีนอลิกและสารพิเพอรีน จากการศึกษาวิจัยระดับเซลล์ในห้องปฏิบัติการพบว่า สมุนไพรทั้ง 3 ชนิดอาจจะมีส่วนในการยับยั้งเซลล์มะเร็ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานงานวิจัยทางคลินิกที่ยืนยันแน่ชัดว่าการรับประทานพริกสด กระเทียมสด และพริกไทยสดจะสามารถรักษาโรคมะเร็งในมนุษย์ได้

มะเร็งอยู่ใกล้ตัวมากกว่าที่คิด ฉะนั้น หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงสภาพที่เป็นปกติของเต้านม หากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะสามารถพบและรักษาได้แต่เนิ่นๆ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *