ช่วงนี้มีฝนตกในหลายพื้น ทำให้เห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะเห็ดป่าในพื้นที่ธรรมชาติ ซึ่งมีทั้งเห็ดกินได้ และเห็ดพิษ เมื่อเห็ดอยู่ในระยะดอกตูม จะมีความคล้ายคลึงกันมาก อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และนำเห็ดพิษมาปรุงประกอบอาหารได้ ซึ่งอันตรายของการบริโภคเห็ดพิษอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
เห็ด (Mushroom) เป็นเชื้อราชนิดหนึ่ง เจริญเติบโตมาจากเส้นใย หากได้รับอาหารเต็มที่แล้วจะเติบโตเป็นดอกเห็ด มีลำต้นและหมวกดอก โดยปกติแล้วเห็ดตามธรรมชาติจะขยายพันธุ์ได้ในทุกสภาพอากาศ ซึ่งเห็ดงอกเหล่านี้มีทั้งเห็ดกินได้และเห็ดพิษ โดยเห็ดถูกนำมาใช้เป็นทั้งอาหารและยา เนื่องจากมีสารอาหารที่ดีต่อร่างกาย อาทิ ไฟเบอร์ แร่ธาตุ วิตามิน ทั้งยังมีปริมาณโปรตีนที่สูง แต่มีไขมันต่ำมาก ๆ นอกจากนี้ เห็ดยังมีสรรพคุณทางยาสูง มีคุณสมบัติที่เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบภูมิคุ้มกัน ช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ ลดอาการอักเสบของร่างกาย เพราะมีวิตามินบีและดีสูง
ในส่วนของเห็ดป่าที่เป็นที่นิยมและขึ้นชื่อเรื่องรสชาติหรือมีสรรพคุณทางยาซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ อาทิเช่น เห็ดกระด้าง เห็ดโคน เห็ดเผาะ/ เห็ดถอบ เห็ดไข่เหลือง/ เห็ดระโงกเหลือง เห็ดน้ำหมาก เห็ดหล่ม เห็ดผึ้ง เห็ดตับเต่า/ เห็ดผึ้ง เห็ดทรัฟเฟิลขาวเทพสุคนธ์ เห็ดมันปู เห็ดหล่มกระเขียว เห็ดหลินจือ เห็ดข่า อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเห็ดป่ามีทั้งเห็ดที่สามารถนำมารับประทานได้และเห็ดที่มีพิษ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกันมาก อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ เมื่อนำมาปรุงเป็นอาหารร่วมกับเห็ดชนิดอื่น จะอาจทำให้เกิดพิษได้ ซึ่งอันตรายของการบริโภคเห็ดพิษอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
สำหรับเห็ดพิษที่เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตส่วนใหญ่ เช่น
1. เห็ดระโงกพิษ หรือบางที่เรียกว่าเห็ดระโงกหิน เห็ดระงาก เห็ดไข่ตายซาก ซึ่งเห็ดชนิดนี้คล้ายคลึงกับเห็ดระโงกขาว ที่กินได้ แต่มีลักษณะต่างกัน คือ เห็ดระโงกพิษ รอบขอบหมวกไม่มีรอยขีด ผิวก้านเรียบหรือมีขนเล็กน้อย ถุงหุ้มโคนรูปถ้วยแนบติดกับโคนก้าน เมื่อผ่าก้านดูจะมีลักษณะตัน
2. เห็ดถ่านเลือด มีลักษณะคล้ายกับเห็ดถ่านเล็กที่กินได้ ขนาดดอกจะเล็กกว่า และไม่มีน้ำยางสีแดงส้ม
3. เห็ดเมือกไครเหลือง ที่ประชาชนมักสับสนกับเห็ดขิง ซึ่งชนิดที่เป็นพิษจะมีเมือกปกคลุมและมีสีดอกเข้มกว่า
4. เห็ดหมวกจีน มีความคล้ายกับเห็ดโคนที่กินได้ เป็นต้น
อาการหลังจากกินเห็ดพิษแล้ว จะทำให้คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือ ถ่ายอุจจาระเหลว อย่าล้วงคอหรือกินไข่ขาวดิบเพื่อกระตุ้นให้อาเจียน เพราะอาจทำให้เกิดแผลในคอ และการกินไข่ขาวดิบจะยิ่งทำให้ผู้ป่วยท้องเสียเพิ่มหรือติดเชื้อได้ และไม่ควรซื้อยากินเองหรือไปรักษากับหมอพื้นบ้าน จะต้องรีบไปพบแพทย์ และแจ้งประวัติการกินเห็ดโดยละเอียด พร้อมกับนำตัวอย่างเห็ดพิษไปด้วย (หากยังเหลืออยู่) และควรให้ผู้ป่วยนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือนัดติดตามอาการทุกวันจนกว่าจะหายเป็นปกติ เนื่องจากเห็ดพิษชนิดร้ายแรงจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนในช่วงวันแรก แต่หลังจากนั้นผู้ป่วยอาจมีอาการรุนแรงตามมา คือ การทำงานของตับ และไตล้มเหลว อาจทำให้เสียชีวิตได้
ย้ำอีกครั้ง การกินเห็ดพิษเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ดังนั้น หากไม่รู้จัก ไม่แน่ใจ ไม่ควรเก็บกิน และควรหลีกเลี่ยงการกินเห็ดร่วมกับการดื่มสุรา เพราะฤทธิ์จากแอลกอฮอล์จะทำให้พิษเห็ดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว และทำให้อาการรุนแรงขึ้น