ยังไม่ทันถึงเดือนเมษายนแต่อากาศก็ร้อนเสียเหลือเกิน อยู่ในอาคารบ้านเรือนยังพอเปิดเครื่องปรับอากาศดับร้อนได้ แต่ถ้าต้องไปอยู่นอกอาคาร ในพื้นที่กลางแจ้งที่รับแสงแดดตรง ๆ บอกเลยว่าสาหัส หากไม่ดูแลสุขภาพให้ดี อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพหรืออาการเจ็บป่วยต่าง ๆ ของโรคประจำตัวกำเริบขึ้นมาได้ หนึ่งในโรคที่มักกำเริบในช่วงฤดูร้อนก็คือ “โรคผดร้อน”
“โรคผดร้อน” เป็นผื่นผิวหนังอักเสบชนิดหนึ่งที่มีสาเหตุมาจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ เป็นโรคที่พบได้บ่อยโดยเฉพาะในเด็กทารกและเด็กเล็กเนื่องจากการทำงานของต่อมเหงื่อยังพัฒนาได้ไม่ดี ทำให้เกิดการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อได้ง่าย อย่างไรก็ตามในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ก็สามารถพบภาวะนี้ได้เช่นกัน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงอย่างผู้สูงอายุ ผู้มีรูปร่างอ้วน ผู้ที่ชอบใส่เสื้อผ้ารัดแน่นมาก ๆ
ในส่วนของอาการของโรคนั้นมักเกิดผื่นในบริเวณที่มีต่อมเหงื่อมาก เช่น บริเวณหน้าผาก หน้าอก และหลัง โดยเฉพาะในสภาวะอากาศที่ร้อนอบอ้าว หลังออกกำลังกายที่มีเหงื่อออกมาก เป็นไข้ หรือมีการอุดตันของผิวหนัง นอกจากนี้ยังมักเกิดผื่นปรากฏขึ้นบริเวณใต้ร่มผ้า หรือบริเวณใบหน้า คอ หลัง อก และต้นขา ส่วนเด็กเล็กมักเกิดผดร้อนบริเวณคอ หัวไหล่ และหน้าอก และบางครั้งอาจปรากฏอาการบริเวณรักแร้ ข้อพับแขน และขาหนีบได้
ลักษณะผื่นที่พบจะมีลักษณะแตกต่างกันตามระดับของการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อ สามารถพบลักษณะผื่นแตกต่างกันตามตำแหน่งที่เกิดการอุดตันได้ดังนี้
- ผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใสขนาดเล็ก ผิวบางแตกง่าย ลักษณะเหมือนหยดน้ำ เกิดจากการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อที่ส่วนบนของชั้นหนังกำพร้า เรียกผื่นชนิดนี้ว่า Miliaria crystallina พบได้บ่อยโดยเฉพาะบริเวณใบหน้าและหน้าผากของเด็กทารกที่ต้องอยู่ในตู้อบหรือส่องไฟเพื่อการรักษาเป็นระยะเวลานาน
- ผื่นที่มีลักษณะเป็นตุ่มแดง ขนาด 2-4 มิลลิเมตร หรือ Miliaria rubra (prickly heat) เป็นผดร้อนชนิดที่พบบ่อยที่สุด เกิดจากการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อที่ส่วนล่างของชั้นหนังกำพร้า มักพบที่บริเวณต้นคอ หน้าผาก หน้าอก หลังและข้อพับ มักมีอาการคันและคันมากขึ้นเวลาเหงื่อออก
สำหรับผู้ที่มีผื่นไม่มากและอาการไม่รุนแรงส่วนใหญ่ไม่ต้องให้การรักษาเนื่องจากผื่นสามารถหายได้เอง โดยควรหลีกเลี่ยงการตากแดด อากาศร้อนอบอ้าว หรือภาวะที่จะทำให้มีเหงื่อออกมาก เนื่องจากจะกระตุ้นให้เกิดการอุดตันของท่อต่อมเหงื่อ ควรใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย นอกจากนี้ การอาบน้ำ การเข้าสู่ที่ที่มีอากาศเย็น หรือใช้ผ้าเย็นประคบก็จะช่วยลดผื่นได้ อย่างไรก็ตาม โดยปกติโรคผดร้อนสามารถหายเองได้ แต่ผื่นมักเป็น ๆ หาย ๆ หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงอากาศที่ร้อนอบอ้าว หรือกิจกรรมที่ทำให้เหงื่อออกมากได้
ในรายที่มีผื่นมาก มีอาการคันมาก ผดมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เจ็บปวดเพิ่มขึ้น หรือมีไข้ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษา ไม่ควรซื้อยามารับประทานหรือทาผิวหนังเองเพราะผื่นอาจลุกลามได้