“ซีลีเนียม-สังกะสี” ตัวช่วยเสริมภูมิคุ้มกันพร้อมสู้โควิด

0

เพราะเราต้องใช้ชีวิตร่วมกับโควิดไปอีกนาน การดูแลสุขภาพถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องใส่ใจอย่างเคร่งครัด ในส่วนของการกินนั้นนอกจากเลือกกินอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่แล้ว การเลือกอาหารที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการสู้โควิด โดยสารอาหารที่ว่า คือ “ซีลีเนียม” และ “สังกะสี”

“ซีลีเนียม” เป็นสารต้านอนุมูลอิสระชนิดหนึ่งมีหน้าที่กำจัดอนุมูลอิสระต่าง ๆ ที่ทำอันตรายต่อเซลล์หรือเปลี่ยนแปลง

เซลล์ปกติให้กลายเป็นเซลล์มะเร็ง ทั้งยังช่วยเสริมการทำงานของสารต้านอนุมูลอิสระชนิดอื่น ๆ เช่น วิตามินซี วิตามินอี

ส่งเสริมให้ร่างกายเจริญเติบโตตามปกติ นอกจากนี้ ซีลีเนียมมีบทบาทในการสร้างโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบของสเปิร์ม

ทำให้สเปิร์มแข็งแรง ทั้งยังช่วยควบคุมระดับฮอร์โมนไทรอยด์ให้ทำงานได้ปกติ

การขาดซีลีเนียมอาจทำให้เกิดภาวะสติปัญญาบกพร่อง และความผิดปกติของการทำงานของระบบประสาทได้ ร่างกายต้องการซีลีเนียมทุกวันในปริมาณน้อย ๆ แต่ขาดไม่ได้ เพราะถ้าขาดซีลีเนียมจะติดเชื้อได้ง่าย ปริมาณที่ควรได้รับในแต่ละวัน สำหรับวัยผู้ใหญ่ คือ 55 ไมโครกรัมต่อวัน การได้รับซีลีเนียมเพียงพอจะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งบางชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก และลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2

แหล่งของซีลีเนียม เช่น ปลาทูสด ไข่แดงของไข่เป็ด ปลาจาระเม็ดสด ไข่แดงของไข่ไก่ ปลาดุกสด เนื้อปูต้มสุก อย่างไรก็ตาม ซีลีเนียมที่ได้รับในแต่วันไม่ควรเกิน 400 ไมโครกรัม เพราะถ้ามากเกินไป มีความเสี่ยงต่อสุขภาพตั้งแต่ระดับปานกลางจนถึงรุนแรง อาการต่าง ๆ ที่พบ เช่น ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ เป็นต้น เล็บเริ่มเปราะบางจะมีจุดสีขาวเกิดขึ้นที่เล็บ ระบบประสาทตามปลายมือปลายเท้าเสื่อม และถ้าได้รับเกินขนาดเป็นเวลานาน ๆ อาจมีภาวะตับวายได้

ในส่วนของ “สังกะสี” นั้น มีความสำคัญต่อร่างกายมาก เป็นแร่ธาตุที่ควบคุมการทำงานของเอนไซม์ที่ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรคและการเจริญเติบโต สังกะสีไม่สะสมในร่างกาย จึงต้องกินทุกวัน การขาดสังกะสี ผู้ที่เสี่ยงต่อการขาดสังกะสี ได้แก่ ทารก เด็กเล็ก วัยรุ่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร ผู้ที่มีความผิดปกติของตับ ไต ระบบทางเดินอาหาร โรคพิษสุราเรื้อรัง โรคเบาหวาน โรคเอดส์ ถ้าขาดสังกะสีจะทำให้ติดเชื้อได้ง่ายและรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ สาเหตุการขาดสังกะสี เกิดจากกินสังกะสีไม่เพียงพอ มีการดูดซึมผิดปกติ มีการสูญเสียสังกะสีออกจากร่างกายจากการติดเชื้อ

สำหรับแหล่งของสังกะสี ได้แก่ แหล่งอาหารที่ดี คือ เนื้อสัตว์สันใน เครื่องในสัตว์ สัตว์น้ำเปลือกแข็ง โดยเฉพาะหอยนางรม สัตว์ปีก ปลา รองลงมา คือ ไข่ น้ำนมและผลิตภัณฑ์ อาหารที่ช่วยดูดซึมสังกะสี ได้แก่ อาหารที่มีวิตามินเอมาก เช่น นม ไข่แดง ตับ ผักสีเขียวเข้ม ผักสีเหลืองเข้ม ผักสีส้ม ซึ่งควรกินร่วมกับอาหารที่มีสังกะสี

นอกจากเลือกกินอาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายแล้ว อย่าลืมกินอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ รวมถึงล้างมือให้สะอาดทุกครั้งก่อนหม่ำๆ เพื่อสุขอนามัยที่ดีลดเสี่ยงโรค

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *