“อาหารเป็นพิษ” ถือเป็นเรื่องใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย โดยเฉพาะในประเทศเขตร้อนอย่างประเทศไทยที่เชื้อโรคสามารถเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี ดังนั้น จึงควรใส่ใจและเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารอยู่เสมอเพื่อป้องกันการเกิดภาวะอาหารเป็นพิษ
อาหารเป็นพิษเกิดจากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนของเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส สารพิษหรือสารเคมีที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหาร โดยผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะแสดงอาการภายใน 1 – 2 วัน หรือภายในไม่กี่ชั่วโมง ขึ้นอยู่กับชนิด ประเภท ปริมาณของเชื้อโรค และสารพิษที่ได้รับ ซึ่งทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้อง มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ กระหายน้ำ เป็นต้น ซึ่งอาการส่วนใหญ่มักไม่รุนแรงและหายได้ภายใน 1 – 2 วัน
อาการอาหารเป็นพิษผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการที่ไม่รุนแรง และดีขึ้นด้วยการดูแลตนเองที่บ้าน โดยปฏิบัติตัว ดังนี้
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลร่างกายไม่ให้ขาดน้ำ ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ หรือจิบน้ำบ่อย ๆ เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำจากการอาเจียนและท้องเสีย
- ดื่มน้ำผสมผงเกลือแร่ ที่มีเกลือและน้ำตาลกลูโคสเป็นส่วนประกอบหลัก เพื่อทดแทนน้ำและแร่ธาตุบางชนิดที่สูญเสียไป โดยจิบทีละน้อยตลอดวัน
- รับประทานอาหารอ่อน เช่น โจ๊ก ข้าวต้ม งดอาหารเผ็ดและย่อยยาก
- ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่จนเป็นอันตรายได้
- รับประทานยาแก้ท้องเสีย โดยผู้ป่วยควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์หรือเภสัชกร เพื่อช่วยบรรเทาอาการท้องเสีย
วิธีป้องกันตนเองจากภาวะ “อาหารเป็นพิษ” มีดังนี้
- เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุกใหม่ และควรรับประทานอาหารเมื่อปรุงเสร็จทันที หรือสุกใหม่ ๆ
- หากรับประทานอาหารนอกบ้านควรเลือกร้านอาหารที่ไว้ใจได้ สะอาด ถูกหลักอนามัย ได้มาตรฐาน
- หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะ อาหารประเภทเนื้อสัตว์ รวมถึงอาหารค้างคืน
- หากทำกับข้าวเองควรเลือกวัตถุดิบที่เป็นของสดใหม่ มีขบวนการผลิตที่ปลอดภัย โดยปรุงอาหารให้สุกอย่างทั่วถึง น้ำดื่ม และ น้ำใช้ต้องสะอาด โดยเฉพาะน้ำสำหรับปรุงอาหารต้องสะอาด
- หลีกเลี่ยงการปนเปื้อนระหว่างอาหารด้วยกัน เพื่อไม่ให้อาหารที่ปรุงสุกแล้ว ปนเปื้อนกับอาหารดิบ เช่น การใช้มีด เขียง ต้องแยกระหว่างอาหารดิบและอาหารสุก เป็นต้น
- เก็บอาหารที่ปรุงสุกแล้วอย่างระมัดระวัง ในกรณีที่จะนำมารับประทาน ต้องนำมาอุ่นให้ร้อนอย่างทั่วถึงก่อนรับประทานอีก สำหรับอาหารทารกต้องนำมารับประทานทันทีหลังปรุงสุก และไม่ควรเก็บไว้
- ล้างมือก่อนรับประทานอาหารและหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง อย่าใช้มือสัมผัสอาหารที่ปรุงสุกแล้วโดยตรง
ทั้งนี้ หากเกิดอาการรุนแรงขึ้น เช่น ท้องเสียมาก อาเจียนมาก มีเลือดปนในอาเจียนหรืออุจจาระ แขนขาอ่อนแรง หายใจลำบาก ตามัวมองเห็นไม่ชัด ปวดท้องอย่างรุนแรงร่วมกับมีไข้สูง ควรรีบพบแพทย์ทันที