เคล็ดลับเลือกกินอย่างไรให้ห่างไกล “มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง”

0

มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของหลายประเทศทั่วโลก ในเดือนมีนาคมของทุกปี องค์กรด้านสุขภาพทั่วโลกได้ร่วมใจต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยสัญลักษณ์ริบบิ้นสีน้ำเงินเข้ม ไม่อยากเสี่ยงเรามีเคล็ดลับต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยการกินมาฝาก

โรคมะเร็งลำไส้ใหญ่เริ่มจากการเกิดติ่งเนื้อในลำไส้ (polyp) และพัฒนาจนเป็นมะเร็งโดยใช้ระยะเวลาประมาณ 10-15 ปี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มแรกของโรค จะมีอาการก็ต่อเมื่อโรคลุกลามมากขึ้นจนถึงระยะสุดท้าย ส่งผลทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร ซึ่งอาการของโรคที่พบบ่อย ได้แก่ การถ่ายอุจจาระผิดปกติ มีอาการท้องผูกสลับท้องเสีย ถ่ายอุจจาระบ่อยครั้ง ถ่ายไม่สุด ถ่ายเป็นมูกหรือมูกปนเลือด หรืออาจถ่ายเป็นเลือดสด ขนาดลำอุจจาระเล็กลง และมีอาการปวดท้อง แน่นท้อง ท้องอืด จุกเสียด เป็นต้น

ปัจจุบันวิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมากโดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน มีการศึกษาพบว่าพฤติกรรมการกินมีผลทำให้เกิดมะเร็งมากถึง 1 ใน 3 ของปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ โดยเฉพาะโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การขาดการออกกำลังกาย การมีภาวะอ้วนน้ำหนักเกิน การมีประวัติครอบครัวหรือตนเองเป็นติ่งเนื้อในลำไส้ ฯลฯ ดังนั้น การรู้จักเลือกอาหารการกินจึงมีส่วนอย่างมากในการป้องกันโรคมะเร็งมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง

เคล็ดลับต้านภัยมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงด้วยการกิน

1. เลือกกินให้หลากหลายและครบ 5 หมู่ การกินอาหารเหมือนเดิมทุกวัน จะทำให้ได้รับสารอาหารที่จำกัด และไม่เพียงพอ หากอาหารมีความหลากหลายและครบ 5 หมู่ จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพที่ดี เพิ่มภูมิคุ้มกันโรค สร้างความสมดุลให้ร่างกาย

2. เลือกกินผักผลไม้หลากสี ซึ่งแต่ละสีมีสารพิเศษ ทำหน้าที่คล้ายยาช่วยป้องกันโรคบางชนิดรวมถึงมะเร็ง อาทิ ผักผลไม้สีเหลืองหรือสีส้ม มีเบต้าแคโรทีน ฟลาโวนอยด์ และวิตามินซี ที่่ช่วยต้านอนุมูลอิสระ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

3. เลือกกินธัญพืชเต็มเมล็ดที่ไม่ผ่านการขัดสีและถั่วต่าง ๆ ซึ่งมีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีโปรตีน วิตามิน เกลือแร่ รวมถึงสารต้านอนุมูลอิสระต่าง ๆ ทั้งยังมีกากใยที่ช่วยในการขับถ่าย ช่วยลดอาการท้องผูก และความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่

4. หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด ไม่ว่าจะเป็นเค็มจัด หวานจัด เผ็ดจัด อาหารเค็มจัดและอาหารหมักดองที่ใช้เกลือจำนวนมาก ส่งผลให้ความดันเลือดสูง ส่วนน้ำตาลคือหนึ่งในปัจจัยที่จะทำให้เซลล์มะเร็งนั้นเติบโต จึงควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด

5. หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง เนื่องจากจะส่งผลให้น้ำหนักตัวเกิน เสี่ยงความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจ รวมถึงโรคมะเร็ง

6. หลีกเลี่ยงเนื้อแดง และเนื้อสัตว์แปรรูป เนื่องจากบริโภคเนื้อแดงปริมาณมากเป็นประจำส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง และอาจกลายเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้ การกินเนื้อสัตว์แปรรูปและเนื้อแดง ไม่ควรเกิน 500 กรัมต่อสัปดาห์

7. หลีกเลี่ยงอาหารทอดหรือปิ้งย่าง โดยเฉพาะอาหารที่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหรือปิ้งย่างจนไหม้เกรียม เนื่องจากเป็นสารก่อมะเร็ง หากจะกินควรตัดส่วนที่ไหม้เกรียมทิ้ง จะช่วยลดสารพิษได้บ้าง แต่ก็ไม่ควรรับประทานบ่อยจนเกินไป

8. หลีกเลี่ยงอาหารที่ขึ้นราง่าย เช่น พริกแห้ง กระเทียม และถั่วลิสง ก่อนกินควรดูให้แน่ใจว่าไม่ได้ทิ้งไว้นานจนเกิดเชื้อรา

9. หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารสำเร็จรูป ใส่สี รมควัน หรือใส่ดินประสิว เช่น ไส้กรอก แหนม ปลาร้า เนื้อที่สีสดมาก ๆ

10. หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ เพราะอาจทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิ ส่งผลให้เกิดการอักเสบเรื้อรัง จนกลายเป็นมะเร็งได้

อย่างไรก็ตาม มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรงสามารถตรวจคัดกรองเพื่อค้นหามะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ส่งผลให้การรักษาได้ผลดีและมีโอกาสหายสูง ดังนั้น ผู้ที่มีความเสี่ยงและผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองปีละครั้ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *