9 เคล็ดลับการกินอาหารเพื่อต้านโรคมะเร็ง

0

เราทราบกันดีว่าอาหารทุกประเภทนั้นมีทั้งประโยชน์และให้โทษ เมื่อกล่าวถึงโรคอันตรายอย่างมะเร็ง อาหารที่เรารับประทานอยู่ทุกวันนี้ก็สามารถเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งได้ ในทางตรงกันข้าม หากเลือกรับประทานอาหารอย่างเหมาะสม ก็อาจมีส่วนในการป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้เช่นกัน

9 เคล็ดลับการกินอาหารเพื่อต้านโรคมะเร็ง

1. กินผักหลากสีทุกวัน

ผักแต่ละสี แต่ละชนิด มีประโยชน์ต่อร่างกายและให้คุณค่าที่แตกต่างกันไป การรับประทานผักให้หลากหลายหรือรับประทานให้ครบทั้ง 5 สี (สีแดง, เหลือง/ส้ม, เขียว, ม่วง, ขาว) จะมีประโยชน์อย่างยิ่งต่อสุขภาพ

2. ขยันหาผลไม้ทานเป็นประจำ

เป็นที่ทราบกันดีว่าผลไม้ประกอบไปด้วย วิตามินและแร่ธาตุหลากหลายชนิดที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งยังมีเส้นใยอาหารที่ช่วยให้ระบบย่อยอาหารและระบบการขับถ่ายทำงานได้อย่างปกติ

3. ทำอาหารธัญพืชและเส้นใย

ธัญพืชที่ไม่ผ่านการขัดสีหรือขัดสีน้อยที่สุดจะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง เช่น วิตามิน แร่ธาตุ ไฟโตนิวเตรียนท์ ใยอาหาร สารต้านอนุมูลอิสระต่างๆ นอกจากนี้ ใยอาหารในธัญพืชยังทำหน้าที่สำคัญในการพาสารต่างๆ ที่เป็นโทษต่อร่างกายซึ่งเกาะติดบริเวณลำไส้ให้ขับถ่ายออกไปจึงมีส่วนในการลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งบางชนิด

4. ใส่เครื่องเทศเสริมรสชาติอาหาร

เครื่องเทศ หมายถึง ส่วนต่างๆ ของพืชที่นำมาใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารหรือเพื่อให้อาหารมีกลิ่นหอม กลิ่นหอมของเครื่องเทศมาจากส่วนที่เป็นน้ำมันและน้ำมันหอมระเหย ส่วนรสชาติเผ็ดร้อนมาจากส่วนที่เป็นยาง เครื่องเทศประกอบด้วยสารหลายชนิด ซึ่งมีสรรพคุณลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง รวมถึงกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน

5. เพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ

เครื่องดื่มจากธรรมชาติมีสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยแก้กระหาย ทำให้ร่างกายสดชื่น เครื่องดื่มนี้สามารถเตรียมจากส่วนต่างๆ ของพืช เช่น ใบ ผล เมล็ด ราก เป็นต้น

6. อย่าละลืมปรุงอาหารถูกวิธี

วิธีการปรุงอาหารที่ถูกต้องก็มีความสำคัญเช่นกัน ได้แก่ ไม่ปิ้งย่างเนื้อสัตว์จนไหม้เกรียม การปิ้งย่าง รมควัน เนื้อสัตว์จนไหม้เกรียมจะทำให้เกิดสารก่อมะเร็ง, ไม่รับประทานอาหารแบบสุก ๆ ดิบ ๆ โดยเฉพาะปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดเนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและเกิดอาการอักเสบเรื้อรังส่งผลให้เป็นมะเร็งได้, ไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง เนื่องจากจะมีคุณค่าทางโภชนาการลดลง และทำให้เพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรค

7. หลีกหนีอาหารไขมัน

ไขมันในอาหารพบได้ทั้งในพืชและเนื้อสัตว์ โดยมีส่วนประกอบที่สำคัญ คือกรดไขมัน ซึ่งแบ่งได้เป็น 1) กรดไขมันอิ่มตัว ซึ่งพบใน เนย ไขมันสัตว์ กะทิ น้ำมันมะพร้าว หากร่างกายได้รับมากเกินจำเป็น จะทำให้เสี่ยงต่อโรคความดันโลหิตสูงและโรคหัวใจ 2) กรดไขมันไม่อิ่มตัว พบใน น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันข้าวโพด น้ำมันดอกคำฝอย ปลาซาร์ดีน แซลมอน ทูน่า การบริโภคกรดไขมันชนิดนี้จะช่วยลดระดับคอเลสเตอรอล ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ

8. ลดการบริโภคเนื้อแดง

เนื้อสัตว์สีแดง เช่น เนื้อหมู เนื้อวัว เนื้อแกะเป็นอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูง การบริโภคเนื้อสัตว์สีแดงเป็นประจำอาจทำให้มีความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งลำไส้และทวารหนัก มะเร็งเต้านมและโรคอ้วน ดังนั้นจึงควรจำกัดการรับประทานเนื้อแดงให้เหลือเพียงสัปดาห์ละ 500 กรัม เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง

9. เกลือแกงอาหารหมักดองต้องน้อยลง

โซเดียม มีบทบาทสำคัญต่อกระบวนการต่างๆ ในร่างกาย แต่ถ้าหากได้รับมากเกินไปก็จะเป็นโทษต่อร่างกาย เราควรได้รับโซเดียมไม่เกินวันละ 6 กรัมต่อวัน จึงควรลดการรับประทานอาหารประเภทหมักดอง อาหารแปรรูป โดยเฉพาะที่มีใช้หรือปรุงแต่งสีด้วยดินประสิว เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็ง

นอกจากใส่ใจเรื่องการกินแล้ว อย่าลืมออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงสารก่อมะเร็ง รวมถึงเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งและตรวจสุขภาพประจำปี

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *