ติดเชื้อไวรัสทำ “สมองอักเสบ” มากสุด รักษาช้าถึงตาย!

0

“โรคสมองอักเสบ”

โรคที่เนื้อสมองมีการอักเสบ การอักเสบอาจเกิดทั้งสมองหรือบางส่วนของเนื้อสมอง สามารถเป็นได้ทั้งแบบเฉียบพลัน หรือแบบเรื้อรังก็ได้ สาเหตุของสมองอักเสบเกิดได้ทั้งจากการติดเชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา หรือโปรโตซัว รวมทั้งจากสาเหตุอื่น โดยสาเหตุที่พบมากที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัส

ข้อมูลจาก นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า

สมองอักเสบ คือ โรคที่เกิดจากการอักเสบของเนื้อสมอง สาเหตุที่พบมากที่สุดคือ การติดเชื้อไวรัส ซึ่งเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคสมองอักเสบที่พบในประเทศไทย ได้แก่ ไวรัสเริม แบ่งได้ 2 ประเภท คือ ไวรัสเริมชนิดที่ 1 ทำให้ผู้ที่ได้รับเชื้อมีไข้ เป็นแผล หรือตุ่มใสบริเวณปาก และไวรัสเริมชนิดที่ 2 ทำให้เกิดแผลเริมบริเวณอวัยวะเพศ

viruses-make-the-brain-inflammation-the-most

นอกจากนี้ยังมีเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคไข้สมองอักเสบ ได้แก่ ไข้เลือดออก โรคพิษสุนัขบ้า โรคคางทูม โรคหัดเยอรมัน โรคไวรัสสมองอักเสบเจอี อย่างไรก็ตาม โรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคสมองอักเสบเช่นกัน และปัจจุบันพบมากขึ้น

ด้าน นพ.อุดม ภู่วโรดม ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยจะมีอาการ คือ มีไข้ ปวดศีรษะร่วมกับมีอาการทางสมองและระบบประสาท คือ สูญเสียการรับรู้เรื่องบุคคล เวลาและสถานที่ มีพฤติกรรมที่ผิดปกติ เช่น กระวนกระวาย เห็นภาพหลอน อาจมีอาการอ่อนแรง พูดไม่ชัด ถ้ามีอาการรุนแรงมากอาจจะมีการชัก หมดสติ ไม่รู้สึกตัว เรียกไม่ตื่น และอาจเสียชีวิตได้

นอกจากนี้ ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงทีอาจเกิดอาการรุนแรง มีภาวะแทรกซ้อน และมีปัญหาต่อเนื่องในระยะยาวได้ เช่น เป็นโรคลมชัก อาการอ่อนแรง พฤติกรรมผิดปกติ เกิดความผิดปกติของเชาว์ปัญญา ซึ่งมีผลกระทบ ต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคม

การวินิจฉัยโรคแพทย์จะซักประวัติผู้ป่วยร่วมกับตรวจร่างกายทางระบบประสาทและสมองอย่างละเอียด แล้วจึงส่งตรวจภาพถ่ายรังสีของสมองซึ่งทำได้ 2 วิธี คือ การตรวจซีทีสแกนและการทำเอ็มอาร์ไอ เพื่อตรวจดูว่าผู้ป่วยมีลักษณะสมองอักเสบหรือมีลักษณะโรคทางสมองอื่นๆ ร่วมกับการเจาะน้ำไขสันหลัง ตรวจหาการติดเชื้อหรือการอักเสบ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้องนำไปสู่การรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน

ทั้งนี้ โรคสมองอักเสบที่เกิดจากเชื้อไวรัสเริม ถ้าได้รับยาฆ่าเชื้อไวรัสรักษา โอกาสรอดชีวิตมีประมาณร้อยละ 80 โดยในจำนวนผู้ป่วยที่รอดชีวิตประมาณร้อยละ 50 จะมีความพิการตามมา

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *