“แอนแทรกซ์” นับเป็นโรคระบาดในอดีตที่ค่อนข้างร้ายแรง แต่ด้วยความก้าวหน้าทางด้านสาธารณสุขทำให้การจัดการเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นไปได้ดี ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศไทยพบผู้ป่วยติดเชื้อแอนแทรกซ์ครั้งสุดท้ายคือเมื่อ 17 ปีก่อน กระทั่งเร็วๆ นี้ กลับมีข่าวว่าในไทยมีคนติดเชื้อแอนแทรกซ์และป่วยด้วยโรคนี้
สำหรับไทม์ไลน์ของเหตุการณ์ดังกล่าว สรุปได้ว่า รพ.แม่สอด จ.ตาก พบผู้ป่วยจำนวน 2 รายมีแผลพุพองและจุดดำที่กลางแผล จึงสงสัยว่าติดเชื้อแอนแทรกซ์ จึงส่งเลือดและเก็บตัวอย่างแผลส่งตรวจวิเคราะห์หาเชื้อที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ซึ่งขณะนี้ทราบผลแล้วชัดเจนว่า 1 ราย ติดเชื้อแอนแทรกซ์แน่นอน
ส่วนอีก 1 ราย ให้ผลเป็นลบ แต่เนื่องจากมีลักษณะอาการและแผลเหมือนกัน จึงคาดว่าติดเชื้อเช่นกัน แต่เนื่องจากมีการให้ยาปฏิชีวนะไปก่อนหน้านี้แล้ว จึงอาจทำให้ไม่พบเชื้อหรือเชื้อบริเวณแผลที่เก็บมาส่งตรวจตายแล้ว จึงสรุปว่ามีการติดเชื้อแอนแทรกซ์ทั้ง 2 คน สำหรับที่มาของการติดเชื้อแอนแทรกซ์คือ การนำแพะที่ตายแล้วจากประเทศเพื่อนบ้านมาชำแหละ แล้วมือคลุกเคล้าตอนทำอาหาร จากนั้นจึงเกิดแผลดังกล่าว
โรคแอนแทรกซ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีชื่อว่า Bacillus Anthracis มีการติดต่อได้ 3 ทาง
- ผิวหนัง เช่น 2 รายนี้ คือเชื้อโรคเข้าทางแผลที่ผิวหนัง จากนั้นไปที่ต่อมน้ำเหลือง ทำให้ต่อมน้ำเหลืองโต และอาจติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิต 20%
- ทางเดินหายใจ คือเข้าทางปอด ทำให้มีอาการหายใจลำบาก มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน จากนั้นจะหายใจขัด หายใจลำบาก หน้าเขียวคล้ำ และตายจากระบบหายใจล้มเหลว โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นเป็น 50%
- ทางเดินอาหาร คือ เกิดจากการกินเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบ และได้รับเชื้อเข้าไป ภายใน 12-24 ชั่วโมง จะรู้สึกมีไข้ ไม่สบายท้อง คลื่นไส้ อาเจียน คล้ายกับอาการของอาหารเป็นพิษ ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษา เชื้อจะเข้าในกระแสเลือด ทำให้ถึงแก่ชีวิตได้ การรับเชื้อทางนี้ถือว่าอันตรายที่สุด มีโอกาสเสียชีวิตถึง 80%
แต่ทั้งหมดหากรีบรักษาด้วยการให้ยาปฏิชีวนะก็สามารถรักษาให้หายได้ ในส่วนของการป้องกันเชื้อแอนแทรกซ์ที่ดีที่สุดคือ หลีกเลี่ยงสัตว์ที่ป่วยตายผิดธรรมชาติ ซึ่งเชื้อแอนแทรกซ์ส่วนใหญ่มักพบในแพะ แกะ วัว และควาย หากพบสัตว์เหล่านี้ตายผิดธรรมชาติให้รีบแจ้งปศุสัตว์ วิธีทำลายที่ดีที่สุดคือการเผา ซึ่งเชื้อจะตายจากความร้อนที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาที
นอกจากนี้ไม่ควรฝังสัตว์ที่ป่วยตายผิดธรรมชาติลงพื้นดิน เพราะเชื้อสปอร์สามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี และไม่ควรนำเนื้อสัตว์เหล่านี้มากินเด็ดขาด แม้จะทำให้สุกก็ตาม